xs
xsm
sm
md
lg

ตรังเร่งปรับปรุงระบบส่งน้ำอ่างท่างิ้วรับมือภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - อบต.ท่างิ้ว จับมือกรมชลประทาน ดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำมาใช้รับมือภัยแล้ง หลังพบปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ยังมีสูงถึง 90% และมีเพียงพอ แม้ฝนจะทิ้งช่วงยาวนานไปถึงกลางปี

วันนี้ (22 ม.ค.) นายธรรมศทรรศ กี่สุ้น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง กล่าวว่า หลังจากได้เกิดฝนทิ้งช่วงมาต่อเนื่องกันเกือบ 1 เดือน และขณะนี้ในพื้นที่ก็กำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งแล้วนั้น อบต.ท่างิ้ว ได้ร่วมกับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลท่างิ้ว และมีความจุน้ำประมาณ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร อันถือเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดเพียงแห่งเดียวของจังหวัดตรัง เตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดยังมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำท่างิ้วสูงถึง 20 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 90% ของความจุ ถึงแม้จะเกิดฝนแล้งยาวนานไปจนถึงช่วงกลางปี แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องน้ำกินน้ำใช้อย่างแน่นอน ทั้งระบบประปา และระบบชลประทานเพื่อการเกษตร ในพื้นที่อำเภอห้วยยอด และอำเภอใกล้เคียง เช่น วังวิเศษ รัษฎา และเมืองตรัง อีกทั้งจากข้อมูลย้อนหลังไปนับตั้งแต่มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นมาเมื่อปี 2543 ก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี

นายธรรมศทรรศ กี่สุ้น นายก อบต.ท่างิ้ว กล่าวว่า ล่าสุด กรมชลประทานได้อนุมัติงบประมาณ 170 ล้านบาท มาเพื่อวางท่อขนาด 50 นิ้ว เป็นระยะทาง 13.5 กิโลเมตร เพื่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำท่างิ้วลงมาสู่พื้นที่ด้านล่างของตำบลท่างิ้ว โดยไหลแยกออกเป็น 3 สาย ยังห้วยนาง คลองไสม่วง และคลองท่างิ้ว ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อที่จะนำน้ำไปใช้ทางการเกษตร เนื่องจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ไม่เคยมีน้ำต่ำกว่าความจุ 50% แม้กระทั่งในช่วงหน้าแล้ง จึงสมควรที่จะนำน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีการปล่อยน้ำลงมาใช้บางจุดแล้ว เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น และคาดว่าประมาณกลางปี 2556 โครงการก็จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่เพื่อให้ประชาชนในตำบลท่างิ้ว และอื่นๆ เช่น ห้วยนาง หนองช้างแล่น เขากอบ รวมทั้งอำเภอใกล้เคียง ได้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรจากอ่างเก็บน้ำท่างิ้วด้วย ทาง อบต.จึงได้ประสานไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอขอโครงการวางท่อขนาดประมาณ 2 นิ้ว เพื่อส่งน้ำเข้าไปในบางจุดที่ลำคลองผ่านเข้าไปไม่ถึง แต่ต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น