ชุมพร - ชาวนาข้าวในจังหวัดชุมพร เข้าร่วมโครงการกิจกรรม 84 ตำบล ปุ๋ยลดต้นทุนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขายได้ตันละ 16,000 บาท สูงกว่าราคารัฐบาลรับประกันชาวนา
นายสุทัศน์ สุทธิพล อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1/2 ต.บางลึก อ.เมือง จ.ชุมพร บอกว่า ก่อนหน้าที่จะได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ตนเองได้ปลูกข้าวไว้เพียงเพื่อบริโภคในครัวเรือนของแต่ละปีเท่านั้น ไม่เคยคิดที่จะทำนาปลูกข้าวไว้ขาย เพราะมีปัจจัยหลายอย่างไม่เอื้ออำนวยโดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูง หากทำเชิงพาณิชย์จะไม่คุ้มทุน และบางปีต้องเจอศัตรูพืชระบาดกัดกินต้นข้าวสร้างเสียหายอย่างหนัก จนขาดทุนเป็นหนี้สิน
นายสุทัศน์กล่าวอีกว่า หลังจากที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ในกิจกรรม 84 ตำบล ปุ๋ยลดต้นทุนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชนมายุ 84 พรรษา ลงมาในพื้นที่จังหวัดชุมพร ตนเองได้เสนอตัวขอเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยทางสำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานพัฒนาที่ดินได้ลงมาตรวจสอบพื้นที่นาของตน และเห็นว่าในตำบลบางลึก มีความเหมาะสมที่สามารถทำนาในรูปแบบการใช้ปุ๋ยเพื่อลดทุนการผลิตได้ จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่นักวิชาการด้านการเกษตรแนะนำ ทั้งการเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะกับแปลงนา การใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างถูกวิธี เช่น การดูแลรักษา การกำจัดศรัตรูพืช และมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในจังหวัดชุมพรได้เข้าร่วมอีก 8 ราย โดยใช้พื้นที่นาของตนในหมู่ที่ 6 ต.บางลึก อ.เมือง จ.ชุมพร จำนวน 30 ไร่ เป็นแปลงสาธิต
จากการเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงสาธิต 2 รอบที่ผ่านมา พบว่าได้ปริมาณข้าวเพิ่มมากขึ้น สามารถแบ่งแยกเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน แล้วยังนำไปขายให้แก่โรงสีข้าวในจังหวัดชุมพร ได้ในราคาตันละ 16,000 บาท ซึ่งสูงกว่าเข้าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลถึง 2,000 กว่าบาท และที่สำคัญ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้เกือบเท่าตัว ซึ่งหลังจากนี้ไปตนเองพร้อมกลุ่มชาวนาในแปลงสาธิตจะเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในจังหวัดชุมพร ซึ่งมีอยู่กว่า 1,800 ราย ได้เข้ามาศึกษา และเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปทุมธานี 2 แจกจ่ายให้แก่เกษตรกรชาวนาที่ต้องการนำไปปลูกอีกด้วย
นอกจากนี้ ก่อนเข้าโครงการดังกล่าว เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในจังหวัดชุมพร ตนและชาวนาที่นี่จะปลูกกล้าข้าวแน่นเกินไปคิดว่าจะได้ผลผลิตมาก แต่ปรากฏว่า ทำให้เพลี้ยกระโดดซึ่งเป็นศัตรูพืชตัวฉกาจแพร่ระบาดได้ง่าย สร้างความเสียหายให้แก่ชาวนาเป็นอย่างมาก ต่อมาได้รับองค์ความรู้เพิ่มเติมจากสำนักงานเกษตรจังหวัด ให้ปลูกกล้าข้าวให้ห่างกันแต่ละกอประมาณ 1 คืบ เพื่อความเหมาะสมของอุณหภูมิระหว่างกอข้าว ทำให้การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดหมดไป ปัจจุบัน จะมีก็เพียงหนูเท่านั้นที่มากัดกินซึ่งก็กำจัดโดยใช้กรงดักหนู แต่ก็ยังนับว่าโชคดีเนื่องจากมีนกปากห่างที่เคลื่อนย้ายอพยพมาจากภาคกลาง มาอยู่อาศัยในพื้นที่หาอาหารกินอยู่ตามผืนนา จึงเหมือนเป็นยามตามธรรมชาติคอยมาไล่หนู และจิกกินหอยเชอรี่เป็นอาหาร ทำให้นาข้าวของชาวนาในพื้นที่ มีต้นข้าวเจริญเติบโตชูรวงได้อย่างสมบูรณ์ และลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และยังเป็นแปลงนาข้าวที่อนุรักษ์ระบบนิเวศอีกด้วย