xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เลี้ยงหมูภาคใต้ทำ MOU ลดแม่พันธุ์ 10% แก้ปัญหาหมูล้นตลาดส่งผลดีถึงผู้เลี้ยงรายย่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ทำ MOU ลดแม่พันธุ์สุกร 10 เปอร์เซ็นต์ แก้ปัญหาสุกรล้นตลาด ชี้หากทั้งประเทศร่วมมือกันจะส่งผลดีต่อปี 2557 แก่ผู้เลี้ยงรายย่อย ทำให้เกิดภาวะสมดุลระหว่างผู้บริโภคกับผู้เลี้ยง ส่วนตลาดเออีซีที่ภาคใต้ไม่เกิดประโยชน์

นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยงค์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ได้ทำข้อตกลงระหว่างกัน 15 ราย ผู้เลี้ยงสุกรบริษัทขนาดใหญ่ และขนาด 1,000 พันธุ์แม่ขึ้นไป ลดฝูงแม่พันธุ์สุกร 10 เปอร์เซ็นต์ จากแม่พันธุ์ 80,000-90,000 ตัว จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค.2556 ซึ่งจะส่งผลดีต่อปี 2557 ทันที จะทำให้เกิดภาวะสมดุลระหว่างผู้บริโภคและผู้เลี้ยง เนื่องจากที่ผ่านมาสุกรล้นตลาด ส่งผลทำให้ราคาตกต่ำแล้วประสบการขาดทุน

นายเกรียงศักดิ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายนำร่องลดแม่พันธุ์ 10 เปอร์เซ็นต์ ของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ จะทำให้สุกรที่ล้นตลาดอยู่ จนส่งผลกระทบต่อราคาและผู้เลี้ยงรายย่อย รายเล็ก ขาดหายไปประมาณ 12,000 ตัวต่อเดือน สุกรหายไปจากตลาด ประมาณ 144,000 ตัวต่อปี แล้วจะทำให้เกิดภาวการณ์ผลิตที่สมดุลระหว่างสุกรกับผู้บริโภค เมื่อเกิดภาวะสมดุล ทางสมาคมก็จะออกมาตรการเพื่อให้สุกรจากภาคอื่นๆ เข้ามาตีตลาดในภาคใต้ จากเดิมเข้ามาประมาณ 20,000-30,000 ตัวต่อเดือน ให้เหลือประมาณ 5,000 ตัว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งมีมาตรการอยู่แล้วที่จะทำการป้องกัน เพราะภาคใต้เป็นเขตปลอดโรค

“ผู้เลี้ยงสุกรไม่ได้พึ่งรัฐบาล แต่รัฐบาลจะชอบเข้ามาดำเนินการกับผู้เลี้ยงสุกรจนเสียกลไกตลาด โดยโมเดลนำร่องลดฝูงแม่พันธุ์สุกร 10 เปอร์เซ็นต์ภาคใต้ หากภาคอื่นๆ นำไปใช้ก็จะเกิดภาวะที่ดีโดยภาพรวม จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย รายเล็ก ที่มีผลกระทบอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ ส่วนตลาดเออีซีที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ตลาดทางภาคใต้ คงไม่สามารถขยายตัวออกไปยังต่างประเทศได้มากนัก เพราะประเทศเพื่อนบ้านต่างเป็นมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน มีบ้างก็เป็นชาวจีน ชาวอินเดีย แต่ไม่มากนัก แต่ภาคอื่นที่มีอาณาเขตติดกับประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และจีน จะได้ประโยชน์จาก เออีซี เพราะฉะนั้น ทางภาคใต้จึงเร่งดำเนินการบริหารจัดการเอง”

รายงานข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้เปิดเผยว่า ภาวะเลี้ยงสุกรรายย่อย ปรากฏว่าตลอดทั้งปี 2555 ขาดทุนสะสมมาตลอดประมาณ 100 ล้านบาท โดยเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 50 บาทบวกลบ และราคาต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 60 บาทต่อ กก. เนื่องจากอาหารของสุกรขยับราคาขึ้นทุกตัว ส่งผลให้ผู้เลี้ยงรายย่อยต้องล้มเลิกไปแล้วจำนวนมาก ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่มีการขยายตัว บริษัทขนาดใหญ่ระบุว่า เพราะสุกรรอดชีวิตจำนวนมากขึ้น จากเดิมรอดชีวิต 18 ตัว ขณะนี้รอดชีวิต เป็น 24-25 ตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น