xs
xsm
sm
md
lg

“พะยูนศึกษา” ปลุกจิตสำนึกอนุรักษ์ด้วยตำราท้องถิ่นเมืองตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จังหวัดตรัง จัดทำตำรา “พะยูนศึกษา” แทรกในหลักสูตรสาระท้องถิ่น 4 วิชา ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.3 เพื่อปลุกจิตสำนึก อนุรักษ์ธรรมชาติ และระบบนิเวศ เนื่องจาก “พะยูน” ในท้องทะเลตรังกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในท้องทะเลตรังกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ดังนั้น จังหวัดตรังจึงได้จัดทำบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการอนุรักษ์ “พะยูน” ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขึ้น ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) และกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ ทำการบรูณาการความร่วมมือดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากร “พะยูน” รวมทั้งการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ “พะยูน” ถือเป็นพระเอกในแวดวงอนุรักษ์ของจังหวัดตรัง เพราะมีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยแล้ว และยังช่วยสร้างชื่อเสียงให้โด่งดัง นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นที่ชื่อว่า “พะยูนศึกษา” เพื่อให้จังหวัดตรังมีการเรียนการสอนในเนื้อหาหลักสูตรที่ว่าด้วยชุมชน ทะเล และ “พะยูน” โดยบูรณาการเข้าไปในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพัฒนาจาก “พะยูนศึกษา” เป็น “ตรังศึกษา” ในเวลาต่อมา ซึ่งครอบคลุมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม

เป้าหมายที่สำคัญก็คือ การให้นักเรียนในสถานศึกษาต่างๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเอกลักษณ์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และทรัพยากรสำคัญ รวมทั้ง “พะยูน” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง ขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นการสร้างความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยการเริ่มต้นที่ “คน” ก่อนนำไปสู่การสืบทอดวิถีดีงามของความเป็นตรัง และการอนุรักษ์ทรัพยากรของตรัง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และยั่งยืน

ตำรา “พะยูนศึกษา” จะถูกสอดแทรกเข้าในหลักสูตรสาระท้องถิ่น 4 กลุ่มสาระ ได้แก่ วิชาภาษาไทยในชั้น ป.1-6 และ ม.1-3 วิชาวิทยาศาสตร์ในชั้น ป.1-6 และ ม.1-3 วิชาสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมในชั้น ป.1-6 และ ม.1-3 รวมทั้งวิชาศิลปะในชั้น ป.1-6 หรือเลือกแทรกในบางตัวชี้วัดในแต่ละมาตรฐานของสาระที่มีเรื่องเมืองตรังปรากฏชัดส่วนตัวชี้วัดอื่นๆ ที่เป็นเรื่องกลางๆ ก็ให้สอนไปตามปกติ หรืออาจเลือกแทรกเพิ่มเติมตามข้อมูลจริงที่มีอยู่ในชุมชน

นอกจากนั้น ยังมีการจัดทำคู่มือครูเพื่อใช้เป็นสื่อประกอบในการจัดการเรียนการสอน หรือเป็นฐานความรู้สำหรับจัดทำสื่อใหม่ แต่ที่เห็นจะโดดเด่นที่สุดก็คือ คู่มือว่าด้วย “พะยูน” และสัตว์ทะเลหายาก เนื่องจากที่ผ่านมา มักจะถูกนำไปใช้ด้านการท่องเที่ยว แต่ตำราฉบับนี้กลับต้องการนำไปใช้เพื่อปลุกกระแสการอนุรักษ์ให้แก่กลุ่มชาวประมง เพราะหากระบบนิเวศมีความสมบรูณ์ “คน” ที่อาศัย และประกอบอาชีพประมงก็จะมีชีวิต และความเป็นอยู่ที่มั่นคง ตลอดจนยังเป็นการคุ้มครองพื้นที่ทางอาหารของ “คน” ในประเทศด้วย

นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิอันดามัน เล่าให้ฟังว่า ตำรา “พะยูนศึกษา” เล่มดังกล่าวเป็นการผนึกกำลังทำงานร่วมกันโดย 6 องค์กรหลัก ได้แก่ มูลนิธิเอสซีจี มูลนิธิอันดามัน โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (ตรัง) รวมทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการขึ้นมาตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2553

คณะทำงานซึ่งมาจากกลุ่มคนที่หลากหลาย และเชี่ยวชาญในเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งครูและนักเรียน ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องนำตำราฉบับนี้ไปใช้โดยตรงในอนาคต ได้ร่วมกันประชุมหารือ และลงพื้นที่ไปค้นคว้าหาข้อมูล ทั้งจากกิจกรรมที่จัดขึ้นตามสถานที่ และในโอกาสต่างๆ หรือรวบรวมมาจากทุกแหล่ง ก่อนนำมาเขียนโครงร่างแล้วตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายขั้นตอนเพื่อให้ได้เนื้อหาที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบมากที่สุด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 2 ปี กว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง

โดยขณะนี้ กำลังรอการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการระดับจังหวัดตรัง เพื่อขอความเห็นชอบนำไปเผยแพร่ยังสถานศึกษาต่างๆ แล้วจะได้เริ่มต้นใช้อย่างเป็นทางการในปีการศึกษา 2556 ถือเป็นสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นที่มีประโยชน์อย่างมาก หากครูผู้สอนสามารถหยิบยกไปนำเสนอต่อเด็กๆ ด้วยการประยุกต์ใช้ร่วมกันทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยในบริเวณชายฝั่ง เนื่องจากสัมผัสทั้ง “พะยูน” และทรัพยากรต่างๆ เป็นปกติอยู่แล้ว จะได้เข้าใจถึงแนวทางของการอนุรักษ์มากขึ้น

ขณะที่ น.ส.สุนทรีย์ สังข์อยุทธ์ อดีตหัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ตรัง หนึ่งในคณะทำงานตำรา “พะยูนศึกษา” มองว่า ปกติเด็กๆ ก็ต้องเรียนวิชาภาษาไทย วิทยาศาสตร์ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม และศิลปะเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมอยู่แล้ว หากได้นำเรื่องในท้องถิ่นแทรกเสริมเข้าไปด้วยก็ถือเป็นเรื่องที่ดียิ่ง และจะได้มีต้นแบบเดียวกันทุกๆ โรงเรียน โดยเบื้องต้น คงให้ครูผู้สอนทดลองนำไปใช้สักปีหนึ่งก่อนแล้วค่อยมาทำการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมอีกครั้ง

ส่วนนายกฤษดา ชัยขัน ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดตรัง เห็นว่า การจัดทำตำราดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากขึ้น ทั้งในเรื่องของ “พะยูน” หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อท้องถิ่นตรัง และน่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวต่อการอนุรักษ์ เพราะขนาดตนเองเป็นคนตรังแท้ๆ ก็ยังไม่เคยเห็น “พะยูน” ตัวเป็นๆ เลย ซึ่งหากเด็กไม่มีความรู้ ก็จะไม่เกิดความรักจนนำไปสู่จิตสำนึกที่ดี ยิ่งมีการนำ “พะยูน” สัตว์ที่มีรูปร่างน่ารักมาเป็นสื่อด้วยก็น่าจะเข้าถึงเด็กได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะระดับชั้นประถมศึกษา ดีกว่านำไปใช้เพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น

 
 







กำลังโหลดความคิดเห็น