ตรัง - ธ.ก.ส.ตรัง จัดโครงการรวมใจภักดิ์ปลูกมเหสักข์-สักสยามินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และช่วยรักษาธรรมชาติ ลดการทำลายป่า รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ให้เกษตรอีกทางหนึ่ง
นายชิโนรส สุขมาก ผู้จัดการศูนย์ธุรกิจ สนจ.ตรัง กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดตรัง ได้จัดโครงการรวมใจภักดิ์ปลูกมเหสักข์-สักสยามินทร์ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา รวมทั้งกระตุ้นให้คนไทยเกิดจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างมีคุณธรรม รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ต้นสักที่มีอายุยืนยาว และขนาดลำต้นใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมการทำกิจกรรมเป็นกลุ่มแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป
สำหรับโครงการดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางของ ธ.ก.ส.จังหวัดตรัง ที่ต้องการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจเน้นให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นหลัก ทำให้มีการถากถางป่าขยายที่เพาะปลูกมากขึ้น ดังนั้น เพื่อรักษาธรรมชาติให้คงอยู่ และลดการทำลายป่า จึงให้เกษตรกรร่วมปลูกป่า ปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนั้น ต้นไม้ที่ปลูกสามารถใช้เป็นหลักประกันหนี้เงินกู้ โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าต้นไม้ตามเกณฑ์มาตรฐานการเจริญเติบโต และมูลค่าเนื้อไม้ ซึ่งจะใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าไม้ อีกทั้งยังได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ชาวเกษตรกรที่ปลูกยางพาราเป็นเวลา 20 ปี จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยไร่ละ 300,000 บาท แต่ถ้าปลูกไม้ยืนต้นในระยะเวลา 20 ปี ผลตอบแทน 1 ไร่ จะได้จำนวน 200 ต้น คิดเป็นเงิน จำนวน 2-3 ล้านบาท
โดยต้นไม้ที่ ธ.ก.ส. จังหวัดตรัง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น กระถินเทพาณรงค์ กระถินเทพา กระถินยักษ์ สะเดา กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่อัตราเติบโตปานกลาง มูลค่าเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา ตะเคียนทอง กลุ่มที่ 3 ไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง มูลค่าของเนื้อไม้สูง เช่น ไม้สัก มะตูม และกลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น ไม้พะยูง ชิงชัน จันทร์หอม มะค่าโมง หลุมพอ และเคี่ยม