xs
xsm
sm
md
lg

จัดใหญ่วิชาการราชภัฏสุราษฎร์ธานี เน้นเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - มรส.จับมือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน จัดการประชุมทางวิชาการราชภัฏสุราษฎร์ธานีวิจัย ครั้งที่ 8 “วิจัยเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน พร้อมนำเสนองานวิจัยเชิงบูรณาการ “เกษตรแปรรูป ไข่แดงเมืองไชยา ภูมิปัญญาไข่เค็ม”

ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2555 นี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จะจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง “วิจัยเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” (Integrated Research for Community and Local Development) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงบูรณาการที่ตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษาอีกหลายแห่งร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเสนองานวิจัยในครั้งนี้ด้วย

ขณะที่ ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การประชุมวิชาการราชภัฏสุราษฎร์ธานีครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของ มรส. เครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน เครือข่ายการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน สกอ. ภาคใต้ตอนบน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาล และวิทยาลัยการสาธารณสุขภาคใต้

“ในแต่ละปีที่มีการจัดราชภัฏสุราษฎร์ธานีวิจัย จะได้รับองค์ความรู้ และข้อคิดเห็นจากผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เกิดแนวทางใหม่ๆ ในการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในการวิจัย และการพัฒนาชุมชนรากฐานในแต่ละพื้นที่ เพื่อการพัฒนาภูมิภาคและประเทศโดยภาพรวม นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างสรรค์ผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัย ภาคีเครือข่าย สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่ในแวดวงวิชาการ และเผยแพร่สู่สาธารณะด้วย” รองอธิการบดีฯกล่าว

ขณะที่ ดร.วัฒนา วัฒนพรหม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย มรส. กล่าวว่า มีการนำเสนอผลงานวิจัยจากนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบวิจัย มีการแบ่งกลุ่มงานวิจัยเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเทคโนโลยีกับการพัฒนาท้องถิ่น กลุ่มการเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการพัฒนาท้องถิ่น กลุ่มการปฏิรูปการศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น กลุ่มการส่งเสริมสุขภาวะในท้องถิ่น กลุ่มการวิจัยในบัณฑิตศึกษา

ในการจัดงานวิจัยครั้งนี้ มีงานวิจัยที่โดดเด่นมากมาย เช่น งานวิจัยเรื่อง “ห่วงโซ่อุปทานปาล์มน้ำมัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี” “เกษตรแปรรูป ไข่แดงเมืองไชยา ภูมิปัญญาไข่เค็ม” ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากได้รับการนำไปใช้ตามที่ได้มีการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้” โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งภาพ และการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง “การพัฒนาเชิงพื้นที่ในมิติการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม” โดย ดร.อาจอง ชุมสายณ อยุทธยา รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย นิรัญทวี

ด้าน ผศ.โสภณ บุญล้ำ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยเรื่อง “เกษตรแปรรูปไข่แดงเมืองไชยา ภูมิปัญญาไข่เค็ม” ได้เปิดเผยถึงผลงานดังกล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะอำเภอไชยาซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นของการผลิตไข่เค็มจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศจนเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของฝาก และเป็นคำขวัญประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น เพราะชาวไชยาในอดีตมีการเลี้ยงเป็ดแบบธรรมชาติ แล้วเมื่อนำไข่เป็ดพอกกับดินที่มีเฉพาะอำเภอไชยา รสชาติของไข่เค็มจึงอร่อย แดงพอเหมาะ แต่ในปัจจุบัน มีกรรมวิธีการเลี้ยงเป็ดที่เปลี่ยนไปเป็นการให้อาหารสำเร็จรูปแทนการปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ

อีกทั้งในปีที่ผ่านมา เกษตรกรประสบปัญหาไข้หวัดนก รัฐบาลจึงประกาศให้มีการเลี้ยงสัตว์ปีกในคอกแทนการหากินตามธรรมชาติ ไข่เป็ดที่ได้จึงไม่เหมือนในอดีต จึงเป็นสาเหตุ และปัญหาให้ทำการศึกษาเรื่อง “ไข่แดงเมืองไชยา ภูมิปัญญาไข่เค็ม” โดยการนำรำข้าวสาลีมาเป็นอาหารให้แก่เป็ด ซึ่งข้าวสาลีมีสารอาหารประเภทโปรตีนแฝงอยู่ ต้นทุนอาหารก็ต่ำเกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่ม โดยการทำงานวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาร่วมกันกับชาวบ้านในท้องถิ่นเพื่อสามารถนำไปพัฒนาท้องถิ่นได้จริง

กำลังโหลดความคิดเห็น