xs
xsm
sm
md
lg

คนคอนหวั่น “กลีบบัวคว่ำบัวหงาย” ทองคำบนยอดพระบรมธาตุเจดีย์ชำรุดหนัก จี้กรมศิลป์ตรวจสอบด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - หลายภาคส่วนใน จ.นครศรีธรรมราช หวั่นกลีบบัวคว่ำบัวหงาย ปลียอดทองคำองค์พระบรมธาตุเจดีย์ชำรุดหนัก พบคราบคล้ายสนิมเยิ้มเป็นทางยาวตลอดปล้องไฉนโดยรอบ สำนักศิลปากรที่ 14 เต้นเตรียมส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และเร่งเสนอคณะกรรมการศิลปากรชุดใหญ่พิจารณา

วันนี้ (9 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายภาคส่วนกำลังมีความวิตกกังวลถึงการชำรุดของปลียอดทองคำองค์พระธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เนื่องจากมีคราบคล้ายสนิมไหลเป็นทางยาวบนแนวปล้องไฉนเหนือองค์ระฆังคว่ำอย่างเห็นได้ชัด จนมีการนำเรื่องนี้ไปแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง รวมทั้งในสังคมออนไลน์ ขณะเดียวกัน หลายส่วนกำลังเร่งหาช่องทางเคลื่อนไหวเพื่อเร่งให้มีการตรวจสอบ

โดยผู้สื่อข่าวได้เข้าตรวจสอบพบว่า บริเวณปล้องไฉนซึ่งเป็นท่อนส่วนบนที่ตั้งอยู่บนองค์ระฆังคว่ำมีคราบคล้ายสนิมไหลเป็นทางยาวลงมาจากมุมยอดกลีบบัวคว่ำ ซึ่งเมื่อดึงภาพเข้ามาดูในระยะใกล้ จะเห็นถึงความชำรุดของกลีบบัวทองคำได้อย่างชัดเจน คล้ายกับรอยผุกร่อนโดยรอบแนวกลีบบัวคว่ำ ซึ่งกลีบบัวคว่ำบัวหงายทั้งหมดนี้จะมีตรา “ภปร.”ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่บนเนื้อทองคำทุกกลีบ โดยต่างวิตกว่าในช่วงฤดูฝนเช่นขณะนี้ จะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวองค์พระบรมธาตุเจดีย์นั้น เพิ่งผ่านการบูรณะด้วยการขัดคราบตะไคร่น้ำ และราดำ ก่อนที่จะลงสีน้ำปูนแบบโบราณมาเพียงไม่กี่เดือน ยิ่งทำให้เห็นคราบเยิ้มดังกล่าวได้ชัดมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ การบูรณะไม่ได้เกี่ยวข้องกับปลียอดทองคำแต่อย่างใด

ขณะที่ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ผ่านสังคมออนไลน์ว่า “เรื่องทองบัวคว่ำบัวหงายของเจดีย์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เมื่อทาสีใหม่ ทำไมทองจึงขึ้นสนิมหยดลงมาเป็นทางยาวรอบองค์เจดีย์ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ใครรับผิดชอบ กรมศิลปากร ประธานวัฒนธรรมจังหวัด ทำไมเงียบ แสดงความรับผิดชอบหน่อยสะเทือนใจชาวพุทธมากครับ”

ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้ประสานกับเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เพื่อติดตามถึงข้อมูลทางวิชาการ และสาเหตุของการเกิดความเสียหายดังกล่าว พบว่าพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 โดยปลดปลียอดทองคำลงมาบูรณะใหม่ทั้งหมด และได้นำขึ้นไปปิดใหม่บนปลียอดอีกครั้ง โดยแกนในสุดเป็นการก่ออิฐเต็ม และมีตะกั่วนม ดีบุก ไฟเบอร์กลาส และสเตนเลส เพิ่มความคงทนก่อนที่จะปิดทับด้วยทองคำใหม่เนื่องจากแกนไม้ของเดิมนั้นได้ชำรุดไปตามกาลเวลา

อย่างไรก็ตาม หลังจากทราบถึงข้อมูล นายอาณัฐ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากร 14 ได้สั่งการให้หัวหน้าส่วนอนุรักษ์โบราณสถาน นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบอย่างเร่งด่วนโดยใช้กล้องสำรวจทีโอโดไลท์เข้าตรวจ หลังจากนั้น จะนำข้อมูลกลับมาเร่งทำรายงานเพื่อเสนอด่วนไปยังกรมศิลปากรในการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกรมศิลปากรชุดใหญ่ ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญหลายด้านพิจารณา เนื่องจากพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมีความสำคัญระดับชาติ หรือระดับโลกก็ว่าได้ สำนักศิลปากรที่ 14 ดูแลแต่ไม่สามารถตัดสินใจ หรือทำการใดๆ ได้ต้องผ่านคณะกรรมการชุดนี้ทั้งหมด



กำลังโหลดความคิดเห็น