xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องชุด “จิตรกรรมไทยไปโรม ห้าห้า” ว่าด้วย...กลุ่มธรรม (5) / หรินทร์ สุขวัจน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(หมายเหตุ : หรินทร์ สุขวัจน์ ที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว รับมอบหมายจากมูลนิธิเด็ก เชื้อเชิญศิลปินไทยบริจาคผลงานให้มูลนิธิแซนโทส ประเทศอิตาลี เพื่อจัดนิทรรศการศิลปะ ณ กรุงโรม ระหว่างวันที่ 19-27 มิถุนายน 2555 เงินรายได้มอบให้แก่มูลนิธิเด็กเพื่อโครงการสร้างโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก 2 จังหวัดกาญจนบุรี)
 
“To Pray” งานของ ประเทือง เอมเจริญ มีราคาสูงที่สุดในนิทรรศการ
นอกจากจะได้รับบริจาค “To Pray” ผลงานจาก ประเทือง เอมเจริญ ผู้นำของกลุ่มฯ แล้ว นิทรรศการศิลปะ “หมู่บ้านเด็ก” ที่กรุงโรมครั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสมาชิกศิลปิน “กลุ่มธรรม” ผู้มีธรรมในจิตใจอีก 4 คน
“untitled”
ไมตรี หอมทอง ผู้ผ่านโรงเรียนศิลปะมา 2 แห่งคือ เพาะช่าง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ศิลปินหนุ่มใหญ่วัย 53 ผู้เป็นทั้งศิษย์ และเขยของประเทืองมอบภาพสีอะคริลิกบนผ้าใบ “untitled” ขนาด 100 x 145 ซม. จากชุดนิทรรศการ “ภาพเขียนร่วมสมัยอีสาน” ซึ่งได้จัดนิทรรศการเดี่ยวไปเมื่อปี 2554 ที่กรุงเทพฯ
“Venezia”
ภักดิ์ ลิ้มพงษ์ ศิษย์เพาะช่างเช่นกัน มอบภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 60 x 70 ซ.ม. “Venezia” หรือ “เวนิส” แบบอิมเพรสชันนิสม์ ในมุมที่จิตรกรทุกคนพลาดไม่ได้ถ้าได้ไปยังสถานที่เช่นนี้ เป็นที่สนใจแก่ชาวอิตาลีที่มานิทรรศการไม่น้อย
“Seed of Earth”
สมชาย วัชระสมบัติ ศิษย์เพาะช่าง ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม “เอเชียนอาร์ตนาว 2005” จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะลาสเวกัส รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา มอบภาพ “Seed of Earth” สีอะคริลิกบนผ้าใบขนาด 60 x 80 ซ.ม.
 
คนสุดท้ายคือ พิทักษ์ ปิยะพงษ์ ศิษย์เพาะช่างอีกคนหนึ่งผู้มอบผลงาน Can not think” ที่ได้กล่าวถึงไปในตอนที่แล้ว พิทักษ์เป็นสมาชิกคนเดียวของกลุ่มฯ ที่มุ่งสร้างงานแนวสัจจะสังคมแบบ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน
“14 ตุลาคม 2516” ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของ จ่าง แซ่ตั้ง
“กลุ่มธรรม” คือชื่อกลุ่มจิตรกรราว 10 คน ที่รวมตัวกันสร้างสรรค์งานศิลปะภายใต้ ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์-จิตรกรรม ปี 2548) มาตั้งแต่ก่อนปี 2514 ซึ่งเป็นช่วงเวลาอันยากลำบากของศิลปินไร้สำนักสถาบัน จะหาสถานที่จัดแสดงผลงานก็ยาก คนสนับสนุนก็ยาก ขายงานจึงยาก รักษาความรักเคารพในแนวทางศิลปะที่เชื่อมั่นของตนยิ่งยากใหญ่
 
“กลุ่มธรรม” จึงนับเป็นกลุ่มศิลปินที่มีความมุ่งมั่นในอาชีพอย่างยิ่งยวด โดยมีประเทืองเป็นผู้ก่อตั้ง เป็นครู และเป็นแรงบันดาลใจ  มี “ธรรมชาติ” เป็นครูใหญ่ และปรัชญาในการสร้างสรรค์งาน สมาชิกของกลุ่มฯ ยังมี บุญยิ่ง เอมเจริญ (ภรรยา), นฤพนธ์ ชุติวรรณโสภณ, พีระพงษ์ กุลพิศาล, นนทศักดิ์ ปาณะสารทูล, ชัยวัฒน์ วรรณานนท์, วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ, สว่าง เจริญปาละ
จ่าง แซ่ตั้ง
กว่างานของประเทืองจะได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการต้องฝ่าด่านค่านิยม โลกทัศน์ และความใจแคบทางวัฒนธรรมของคนเมืองเกือบตาย จนเมื่อประเทืองมีชื่อเสียงออกไปนอกประเทศแล้วนั่นแหละ จึงได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อไม่นานมานี้
 
เมื่อกล่าวถึงชะตาชีวิตของผู้ที่สร้างนฤมิตกรรมในประเทศนี้อย่างน่าเจ็บใจแล้ว ทำให้นึกถึงเกลอผู้ล่วงลับของประเทืองผู้เป็นดุจเงาทอดทาแก่กันของสองศิลปินคู่นี้ ผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวศิลปินจำนวนไม่น้อย และพากันรุดไปในความมืดข้างหน้าอย่างไม่ท้อถอย ดุจดังพายุหมุนที่ท่องไปพร้อมกับดูดสิ่งใกล้เข้าไปร่วมเส้นทางอย่างมีพลังที่ไม่อาจต้านทาน เกลอของประเทืองคนชุดดำผู้มีสมญาคนชุดขาวผู้นั้น ฝากผลงานจิตรกรรม วรรณกรรม และปรัชญานิพนธ์ทรงคุณค่ายิ่งไว้แก่โลกนับพันชิ้น อันท่านผู้นั้นไม่เคยนำออกขายเลยชั่วชีวิต
 
สามสิบปีที่แล้ว วงการศิลปะเมื่อกล่าวถึงประเทืองในชุดแต่งกายดำ ก็มักกล่าวถึง จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปิน กวี นักปรัชญา ในชุดแต่งกายขาว
ประเทือง เอมเจริญ
ขณะที่ประเทืองพาจิตวิญญาณ และผลงานท่องไปในโลกของธรรมชาติ เพื่อค้นหารหัสนัยมาเผยแสดง จ่างกลับดุ่มเดินไปยังภูมิรู้ และปรัชญาเก่าแก่ของจีน เพื่ออธิบายชีวิตจิตใจ และปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างแหลมคม งดงาม สั่นสะเทือนรสนิยมแบบจารีตของไทยอย่างองอาจ
 
เป็นแรงบันดาลใจอันสัมฤทธิ์แก่คนหนุ่มผู้ที่ตั้งมั่นในความเป็นศิลปินเช่นเดียวกับประเทือง เช่น สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ศิลปินที่ไปมีชื่อเสียงในเยอรมนีตั้งแต่วัยหนุ่ม จุมพล อภิสุข (ศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านตึก) ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ ศิลปินกวีซีไรต์ เป็นต้น
 
จ่าง คือศิลปินเพื่อชีวิตคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น