ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ประชาชน นักท่องเที่ยวนับหมื่น ร่วมพิธีแห่พระรอบเมืองของศาลเจ้ากะทู้ ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในภูเก็ต และเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบพิธีถือศีลกินผัก ที่สืบเนื่องต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประกอบพิธีแห่พระรอบเมือง งานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2555 วันนี้ (22 ต.ค.) เป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนชาวภูเก็ต นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาตินับหมื่นคน ออกมารับขบวนแห่พระของศาลเจ้าหล่ายถู่ต่าวโบเก้ง หรือศาลเจ้ากะทู้ ซึ่งเป็นศาลเจ้าแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ตที่จัดให้มีการประกอบพิธีถือศีลกินผักขึ้น เพื่อขอพร และชมการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรง โดยการใช้ของแหลม ของมีคมต่างๆ ทั้งใน และนอกตำนาน ทิ่มแทงตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณกระพุ้งแก้ม ลิ้น ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการรับเคราะห์แทนผู้ถือศีลกินผัก โดยวันนี้ม้าทรงของศาลเจ้ากะทู้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยใช้อาวุธขนาดใหญ่ในการทิ่มแทงตามร่างกายมากนัก แต่ก็ยังมีการใช้อาวุธหวาดเสียวบ้างในบางคน
โดยขบวนแห่พระของศาลเจ้ากะทู้ ได้เริ่มต้นตั้งขบวนหน้าสนามกีฬาสุระกุล แล้วเคลื่อนตัวไปตามถนนสายต่างๆ ในตัวเมือง เพื่อมุ่งหน้าสู่ปลายแหลมสะพานหิน เพื่อไปประกอบพิธีอัญเชิญกระถางธูปศักดิ์สิทธิ์กลับศาลเจ้า ทั้งนี้ เมื่อขบวนแห่พระผ่านมาถึงจุดที่มีประชาชนชาวภูเก็ต และนักท่องเที่ยวตั้งโต๊ะบูชาพระ ได้มีการนำประทัดแพ ที่เตรียมไว้จำนวนมากจุดใส่ขบวนพระเพื่อเป็นการต้อนรับ ในโอกาสเสด็จออกประพาสเพื่อโปรดสัตว์ หรือทำนองออกเยี่ยมราษฎรของพระมหากษัตริย์
โดยมีขบวนธง และป้ายชื่อแห่นำหน้า จากนั้นเป็นเกี้ยวหามรูปพระ เรียกว่า ไท่เปี๋ย หรือเสลี่ยงเล็ก โดยหามรูปพระบูชาต่างๆ ออกนั่งเกี้ยวไป ซึ่งจัดตามชั้นและยศของเทพ จากนั้นเป็นขบวนของนิ่วสิ่ว หรือฉัตรจีน ตามด้วยพระเกี้ยวใหญ่ หรือเสลี่ยงใหญ่ ซึ่งมักใช้คน 8 คนหาม ซึ่งเป็นที่ประทับองค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ ทำให้พื้นที่ตัวเมืองภูเก็ตในเส้นทางที่ใช้ประกอบพิธีแห่พระถูกปกคลุมไปด้วยเสียง และควันจากประทัด
อย่างไรก็ตาม สำหรับศาลเจ้ากะทู้ ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของภูเก็ต มีอายุร่วม 200 ปี นับว่าเป็นศาลเจ้าที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีถือศีลกินผัก ของชาวภูเก็ตที่สืบต่อมากระทั่งปัจจุบัน ศาลเจ้ากะทู้ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านกะทู้ อำเภอเมืองกะทู้ ตามประวัตินั้นในสมัยที่มีชาวจีนเป็นจำนวนมากเข้ามาเป็นกรรมกรเหมืองแร่ในภูเก็ตได้เกิดโรคระบาดขึ้น คณะงิ้วจากเมืองจีนที่มาทำการแสดงที่บ้านกะทู้ เกรงว่าอาจเป็นเพราะพวกตนไม่ได้ถือศีลกินผักตามที่เคยปฏิบัติกันมาที่ประเทศจีน จึงได้จัดพิธีถือศีลกินผักขึ้น 9 วัน 9คืน ตามความเชื่อที่มีมา รวมทั้งช่วยกันสร้างศาลเจ้าแห่งนี้ด้วย หลังจากนั้น โรคร้ายก็หายไป ชาวบ้านกะทู้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงจัดให้มีพิธีถือศีลกินผักต่อเนื่องกันมา จากนั้นไม่นานประเพณีถือศีลกินผักก็แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ
ต่อมา หลวงอำนาจนรารักษ์ (ต้นตระกูลตัณฑเวทย์) ซึ่งเป็นนายเหมืองใหญ่ และเป็นผู้นำชุมชนบ้านกะทู้ได้ส่งคนไปนำเอา “เหี่ยวเอี้ยน” หรือขี้เถ้าธูป และกระถางธูปจากมณฑลกังใส ประเทศจีน มาไว้ที่ศาลเจ้ากะทู้ เพื่อให้พิธีถือศีลกินผักมีความถูกต้องสมบูรณ์ ศาลเจ้ากะทู้จึงได้ชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดของประเพณีถือศีลกินผักบนเกาะภูเก็ตในปัจจุบัน