นครศรีธรรมราช - ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง เป็นประธานบวงสรวงพระตำหนักประทับแรมปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เนื่องในเป็นวันคล้ายวันถวายพระตำหนักประทับแรม ครบรอบปีที่ 5
วันนี้ (20 ต.ค.) ที่พระตำหนักประทับแรมปากพนัง ภายในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช นายรัตนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระตำหนัก เนื่องในวันคล้ายวันถวายพระตำหนักประทับแรมอำเภอปากพนัง ครบรอบปีที่ 5 เพื่อความเป็นสิริมงคล และการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานโครงการพระราชดำริให้แก่พสกนิกรชาวนครศรีธรรมราช ได้มีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โดยเริ่มจากพิธีพราหมณ์ บวงสรวงพระนารายณ์ทรงสุบรรณ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สักการะด้านหน้าพระตำหนัก การบวงสรวงเทพยดา และเทพเทวาทุกทิศ โดยมี พล.ต.ชาญประดิษฐ์ แสงนิล รองแม่ทัพภาคที่ 4 นายสุทธิพงษ์ เทิดรัตนพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชบริพาร ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ่อค้า ประชาชนเข้าร่วมพิธี นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด การเสวนา เรื่อง การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ให้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำตามพระราชประสงค์ด้วย
สำหรับพระตำหนักประทับแรมอำเภอปากพนัง เป็นพระตำหนักแห่งแรกของประเทศที่ประชาชนร่วมใจกันถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกร จนมีพระราชดำริโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประชาชนชาวปากพนังจึงพร้อมใจกันจัดสร้างพระตำหนักปากพนังเพื่อเป็นพระตำหนักแปรพระราชฐานเสด็จทรงงาน ณ ลุ่มน้ำปากพนังขึ้นมา
โดยโครงการนี้เป็นที่รู้จักในนาม “สร้างบ้านให้พ่อ” ริเริ่มโครงการโดย มูลนิธิรักษ์แผ่นดินเกิดลุ่มน้ำปากพนัง นำโดย นายสอน นนทภักดิ์ และได้มีการสานต่องานเรื่อยมาจากหน่วยงานหลายฝ่ายจนเสร็จสมบูรณ์ โดยพระตำหนักมีอาคารสำคัญประกอบด้วย ห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระตำหนักพระบรมวงศานุวงศ์ ท้องพระโรง ห้องจัดพระราชทานเลี้ยง และบ้านพักรับรองสำหรับเหล่ามหาดเล็ก และข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จ
พระตำหนักปากพนังตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำปากพนัง ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ อาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี สถาปนิกได้ออกแบบให้มีลักษณะสถาปัตยกรรมของภาคใต้อย่างโดดเด่นชัดเจน โดยใช้หลังคาทรง “บรานอร์” ที่มีลักษณะหลังคาบ้านไทยถิ่นใต้ มาเลย์ อินโด บรูไน และฟิลิปปินส์ และใช้หลังคาสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีอันเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์นั่นเอง