xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพังงาร่วมทำบุญเดือนสิบ อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พังงา - บรรยากาศพุทธศาสนิกชาวจังหวัดพังงาจำนวนมาก ร่วมกันทำบุญวันสารทเดือนสิบ ปี 2555 อุทิศส่วนบุญกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (15 ต.ค.) ที่ศาลาการเปรียญวัดประชุมโยธี (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.พังงา พระเทพปัญญาโมลี เจ้าคณะจังหวัดพังงา เป็นประธานในพิธีทำบุญวันสารทเดือนสิบ ประจำปี 2555 ของพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดพังงา ที่พร้อมใจร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ และร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้สืบทอดต่อไป

สำหรับการทำบุญวันสารท หรือประเพณีชิงเปรต จะจัดทำบุญ 2 ครั้ง คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 หรือที่เรียกว่า “บุญแรก” หรือวันรับตา-ยาย และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า “บุญหลัง” หรือวันส่งตา-ยาย โดยมีความเชื่อว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่า “เปรต” นั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดั่งเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้น ทั้งสองวันนี้ผู้ตายจะมีการมารับบุญของลูกหลานที่ส่งไปให้ โดยพุทธศาสนิกชนก็จะร่วมกันทำบุญ-ตักบาตร ถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน “ตั้งโทงเปรต” เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในอดีตมักตั้งโทงเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน “ร้านเปรต” โดยอาหารที่จะตั้งนั้นจะเป็นขนมทั้ง 5 หรือ 6 อย่างคือ

ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณ ขนมกง หรือขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ ขนมดีซำ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น ในกรณีที่มีขนม 6 อย่าง ก็จะมีขนมลาลอยมัน ซึ่งใช้แทนฟูกหมอนเข้าไปด้วย รวมถึงอาหารอื่นๆ ที่บรรพชนชอบตั้งโทงเปรตเสร็จแล้ว พระสงฆ์จะสวดบังสกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับร้านเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน “ชิงเปรต” โดยการแย่งชิงอาหารบนร้านเปรต ทั้งนี้ นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้ว ยังมีความเชื่อว่าหากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว เสร็จสิ้นการชิงเปรตต่างก็แยกย้ายกลับบ้านด้วยใจอิ่มบุญ






กำลังโหลดความคิดเห็น