xs
xsm
sm
md
lg

รมต.สำนักนายกฯ ทำแผนพัฒนาสตรีปัตตานี-เปิดสัมมนาสู่อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ปัตตานี เตรียมการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมอาชีพของประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านทางกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเสริมสร้างความเข้มแข็งภาษามลายูสู่ประชาคมอาเซียน

วันนี้ (13 ต.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดปัตตานี นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ผู้แทนสตรี จาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาบทบาทสตรี และจังหวัดปัตตานีได้มีการจัดทำแผนพัฒนาสตรีจังหวัดปัตตานี 5 ปี (พ.ศ.2555-2559) เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาส่งต่อกระบวนทัศน์จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และ 11 แผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแผนพัฒนาจังหวัดปัตตานี ซึ่งถือเป็นข้อตกลงความร่วมมือ หรือปฏิญญาสตรีจังหวัดปัตตานี ที่จะบูรณาการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วน และได้จัดทำเสร็จแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สามารถดำเนินการได้ทันทีในปี 2556 พร้อมๆ กับแผนการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของจังหวัดปัตตานี

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จะมีการนำเสนอการประกอบอาชีพสตรีที่โดดเด่นของแต่ละจังหวัด อาชีพของสตรีในแต่ละจังหวัดที่ควรพัฒนา สินค้าของสตรีในแต่ละจังหวัด และธุรกิจของสตรีที่สามารถเชื่อมโยงกับนักธุรกิจภายนอกได้

ต่อมา ได้เดินทางไปยังโรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ต อำเภอเมืองปัตตานี เพื่อเป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเสริมสร้างความเข้มแข็งภาษามลายูสู่ประชาคมอาเซียน โดยมี นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ร่วมเป็นวิทยากรพิเศษให้แก่ผู้ที่มาร่วมสัมมานาครั้งนี้

โดยมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และสถาบันจากประเทศมาเลเซีย จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิชาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการเกี่ยวกับภาษามลายูในอาเซียน ประเด็นเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ การศึกษา การจัดการเรียนรู้ภาษามลายู วรรณกรรม และมลายูศึกษา เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายวิชาการเกี่ยวกับภาษามลายูในอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับภาษาศาสตร์การศึกษา การจัดการเรียนรู้ภาษามลายู วรรณกรรม และมลายูศึกษา ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษามลายูจากศูนย์ภาษามลายู สถาบันการศึกษาจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 40 สถาบัน ครู อาจารย์สอนภาษามลายูจากโรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
บรรยากาศการติดตามทำแผนพัฒนาสตรีปัตตานีในระยะเวลา 5 ปี










กำลังโหลดความคิดเห็น