ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “หาดใหญ่โพล” ชี้นักเรียนใน จ.สงขลายอมรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนมีผลต่อการดำรงชีวิตในอนาคต เผย 61.4% มีความรู้เรื่องประชาคมอาเซียนในระดับปานกลาง ส่วนที่มีความรู้ระดับมากแค่ 22.9% แต่ก็ยังมุ่งสอบเข้ามหา’ลัยรัฐมากกว่าเอกชน ส่วน 5 สาขายอมนิยมคือ วิศวะลอจิสติกส์ นิเทศภาพยนตร์ วิศวะคอมพิวเตอร์และมัลติมีเดีย บริหารการจัดการธุรกิจการบิน และสถาปัตยกรรม
หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของของนักเรียนนักศึกษาในเขตจังหวัดสงขลา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เกี่ยวกับการเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในยุคที่มีการเปิดเสรีในด้านต่างๆ สำหรับประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่เขตการศึกษาทั้ง 3 เขตของจังหวัดสงขลา จำนวน 600 ตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2555 สรุปผลการสำรวจดังนี้
กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้คือ นักเรียนนักศึกษาในเขตจังหวัดสงขลา จากเขตพื้นที่การศึกษาที่ 2 ร้อยละ 59.18 เขตพื้นที่การศึกษาที่ 1 และ 3 ร้อยละ 18.18 และ19.96 ตามลำดับ เพศหญิงร้อยละ 69.90 เพศชายร้อยละ 30.10 มีอายุเฉลี่ย 17 ปี กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 82.18 เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 สัดส่วนร้อยละ 17.11, 14.8 และ 50.27 ตามลำดับ และส่วนใหญ่เป็นนักเรียนสายวิทย์-คณิต ร้อยละ 57.40 ส่วนผู้ที่กำลังศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ร้อยละ 14.98
รศ.ทัศนีย์ ประธาน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล ในประเด็นเกี่ยวกับ “การเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” พบว่า นักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 61.4 มีความรู้เรื่องประชาคมอาเซียนในระดับปานกลาง รองลงมา มีความรู้ระดับมาก ร้อยละ 22.9 และมีความรู้ระดับน้อย ร้อยละ 15.7
ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 55.4 เห็นว่า การเปิดเสรีประชาคมอาเซียนมีผลต่อการดำรงชีวิตในอนาคตในระดับมาก รองลงมา มีผลในระดับปานกลาง ร้อยละ 31.7 และมีผลในระดับน้อย ร้อยละ 12.9 สอดคล้องกับการเลือกคณะและสาขาที่จะเรียนต่อ พบว่า นักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 54.0 การเปิดเสรีประชาคมอาเซียนจะมีผลต่อการเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของตนในระดับมาก ร้อยละ 34.8 มีผลในระดับปานกลาง และร้อยละ 11.2 ที่ตอบว่ามีผลต่อการเลือกศึกษาต่อในระดับน้อย
แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่า เหตุผลที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกคณะและสาขาวิชาที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เรียงลำดับตามน้ำหนักความสำคัญจากมากไปน้อยคือ เลือกเพราะมีโอกาสได้งานทำสูง (4.09 คะแนน) รองลงมาคือ เลือกเพราะมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง (4.04 คะแนน) เลือกเพราะตรงกับความถนัด/ความสนใจของตัวเอง (3.97 คะแนน) และเลือกเพราะปัจจัยด้านการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (3.58 คะแนน)
นักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 62.7 เลือกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยปิดของรัฐ รองลงมา เลือกศึกษาต่อมหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพฯ และมหาวิทยาลัยเอกชนใกล้บ้าน ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 12.9 และ 11.9 ตามลำดับ
นอกจากนี้ นักเรียน นักศึกษามีความสนใจคณะ และสาขาวิชา 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมลอจิสติกส์ ร้อยละ 50.0 อันดับ 2 คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ ร้อยละ 49.4 อันดับ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และมัลติมีเดีย ร้อยละ 49.0 อันดับ 4 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการธุรกิจการบิน ร้อยละ 48.9 และอันดับ 5 คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ร้อยละ 48.0