xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ใช้ถนนจี้มาตรการป้องกันดินถล่มบนเขาบรรทัดตรัง-พัทลุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ผู้ใช้ถนนบนเทือกเขาบรรทัด ตรัง-พัทลุง หวั่นฝนตกหนักทำกำแพงดินพังทลายปิดทับเส้นทาง วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ

วันนี้ (15 ก.ย.) ผู้สื่อข่าว จ.ตรัง รายงานว่า จากการที่ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องกันหลายวัน แม้ว่าจะยังไม่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ก็ตาม แต่ก็ทำให้ผู้ที่ขับขี่รถบนถนนสายเขาพับผ้า บนเทือกเขาบรรทัด รอยต่อระหว่าง อ.นาโยง จ.ตรัง กับ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เกิดความไม่มั่นใจว่า กำแพงดินริมถนนที่เดิมมีการเทปูนซีเมนต์ทับไว้ และต่อมา เมื่อแขวงการทางตรังได้รับงบประมาณสนับสนุน 550 ล้านบาท มาขยายถนนพัทลุง-ตรัง ตอนบ้านนาโยงเหนือ-เขาพับผ้า (นาวง) 4 เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 10 กม.

ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างถนนสายดังกล่าวได้ใช้เครื่องจักรกลกะเทาะปูนซีเมนต์ออกจนเหลือแต่หน้าดิน ทำให้กังวลว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก จะไปชะกำแพงดินจนสไลด์ไหลลงมาปิดทับเส้นทางสัญจร นอกจากนั้น ยังพบว่ากำแพงดินบางจุดมีก้อนหินขนาดใหญ่อยู่ข้างบนด้วย หากหินก้อนนั้นหล่นลงมาก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินได้ ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการขยายถนนดังกล่าวโดยเร่งด่วน ก่อนที่จะเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น

นายสันติ วงศ์ยงศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานแขวงการทางตรัง ชี้แจงว่า กำแพงดินบนเขาพับผ้ามีหลายชนิด ทั้งดินทราย ดินเหนียว หินผุ และหินแข็ง เป็นต้น แม้มีโอกาสที่จะสไลด์ลงมาได้ แต่ก็ไม่ทำให้เกิดอันตราย เพราะก่อนหน้านี้ทางวิศวกรผู้เชี่ยวชาญได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และภูมิศาสตร์แล้ว และได้ออกแบบในส่วนกำแพงดินที่มีความสูงชันตั้งแต่ระดับ 5 เมตรขึ้นไปว่า ต้องมีการวางร่องน้ำให้เป็นช่องระบายน้ำป้องกันการเซาะหน้าดินพังทลาย จากนั้น ใช้ก้อนหินขนาดใหญ่เรียงผสมคอนกรีต แล้วฉีดปูนซีเมนต์ทับอีกชั้น และทำคันทางเพื่อเปิดไหล่ทาง ซึ่งวิธีการดังกล่าวมั่นใจว่า จะช่วยป้องกันปัญหาการพังทลายของหน้าดินในช่วงที่มีฝนตกหนักอย่างเช่นเวลานี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถนนสายตรัง-พัทลุง ก็อาจมีเศษดินอยู่บนท้องถนน ซึ่งทำให้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท้องถนนลื่น และเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ขอให้ผู้ใช้ถนนลดความเร็วของรถลง และห้ามแซงในที่คับขัน ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ เพราะถนนสายดังกล่าวมีปริมาณการจราจรหนาแน่นเฉลี่ยวันละ 10,000 คัน

นอกจากนี้ ยังมีบางจุดที่ต้องระวัง เนื่องจากก่อนหน้านี้ เคยเกิดปัญหาดินทรุดตัว ซึ่งได้กำชับผู้รับเหมาเร่งตรวจสอบ และแก้ไขแล้ว ส่วนก้อนหินขนาดใหญ่ที่อยู่บนกำแพงดินนั้น ขณะนี้ได้ให้ผู้รับเหมาเร่งเอาลงมาอย่างเร่งด่วนแล้ว เพราะเกรงว่าจะหล่นลงมาแล้วเกิดอันตรายได้ พร้อมยืนยันว่า การก่อสร้างถนนสายดังกล่าวมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 10 และแม้จะเจอปัญหาฝนตกอย่างต่อเนื่อง แต่งานจะเสร็จทันแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น