คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมเป็นคณะอนุกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิชุมชน และฐานทรัพยากร ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนของผู้ร้องที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ และเอกชนมาได้ประมาณ 6 เดือน ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า แต่ละองค์กรของรัฐในประเทศไทยมีลักษณะที่วงการคณิตศาสตร์เรียกว่า “Self-Similarity”
ถ้าจะหาคำแปลในทันทีก็คงจะเข้าใจยาก ดังนั้น ผมจะขออนุญาตอธิบายความหมายด้วยภาษาง่ายๆ ทั้งในเชิงคณิตศาสตร์ ในธรรมชาติ และในองค์กรของรัฐครับ ขอเริ่มต้นด้วยการพิจารณารูปร่างลักษณะของใบเฟิร์นดังรูปข้างล่างครับ
จากรูป เราจะเห็นว่าลักษณะของส่วนที่แยกไปเป็นก้านย่อยที่ระบายด้วยสีแดงและสีน้ำเงินนั้นจะมีลักษณะคล้ายกันมากกับส่วนทั้งหมดของใบเฟิร์นนี้ และเหมือนกับก้านย่อยอื่นๆ ด้วย ตรงนี้แหละครับที่เรียกว่า Self-Similarity คือคล้าย (similar) กับตัวเดิมหรือตัวเอง (self)
คราวนี้ลองพิจารณาลงไปที่ส่วนย่อยของก้านสีแดงอีกครั้ง เราก็จะพบว่าแต่ละส่วนย่อยๆ ของส่วนสีแดงก็มีลักษณะคล้ายส่วนสีแดงทั้งหมด และก็คล้ายกับก้านเฟิร์นใหญ่เดิมทั้งหมดด้วย โดยสรุป ไม่ว่าเราจะพิจารณาส่วนย่อยๆ ใดๆ ของใบเฟิร์นก็จะมีลักษณะคล้ายกับภาพรวมใหญ่ทั้งหมด
ปรากฏการณ์เช่นที่กล่าวมานี้ นักคณิตศาสตร์เรียกว่า “Self-Similarity” หรือความคล้ายกันของระบบย่อยกับระบบใหญ่ ภาพใบเฟิร์นข้างต้นนี้ได้มาจากการสร้างภาพด้วย ฟังก์ชัน (function- หรือกติกา, หน้าที่, ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนที่เป็นเหตุและผลลัพธ์ที่เกิดจากเหตุ) ที่มีการทำซ้ำๆ กัน (iterated function system, IFS) ชนิดหนึ่งในวิชาคณิตศาสตร์ ภาพที่เห็นมาจากการวาดด้วยคอมพิวเตอร์ที่เป็นผลลัพธ์ของฟังก์ชัน
ฟังก์ชัน หรือกติกาที่เปลี่ยนปัจจัยซึ่งเป็นต้นเหตุไปเป็นผลลัพธ์นี้มีความสำคัญมาก ถ้าเราอยากได้ลักษณะที่เป็น Self-Similarity เราจะต้องมีกติกาที่แน่นอนอย่างหนึ่งเท่านั้น หากเปลี่ยนกติกาไปเพียงนิดเดียวก็จะไม่ได้อย่างที่เราหวัง
ในธรรมชาติจริงๆ ก็มีลักษณะ Self-Similarity ปรากฏเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกิ่งของต้นไม้ พืช หรือร่องรอยของกองทรายในทะเลทราย เป็นต้น หัวกะหล่ำข้างล่างนี้ซึ่งเราน่าจะคุ้นเคยกันดีก็มี Self-Similarity แต่อาจจะไม่เคยได้สังเกตลักษณะดังกล่าว ถ้าเราตัดยอดเล็กๆ ของกะหล่ำออกมาก็จะมีลักษณะคล้ายกับกะหล่ำทั้งหัว
ภาพสุดท้ายนี้ก็มีลักษณะ Self-Similarity ที่สร้างขึ้นมาจากฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์ซึ่งเพิ่งสามารถแปลงมาเป็นสีสันสวยงามขึ้นได้ในยุคที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีความก้าวหน้ามากเมื่อประมาณ 30-40 ปีมานี้เอง
ต่อไปนี้มาถึงประเด็นที่ว่า อบต.กับรัฐบาลมีลักษณะเป็น Self-Similarity กันอย่างไร ว่าไปแล้ว อบต. ก็เปรียบเสมือนยอดเล็กๆ ของดอกกะหล่ำที่มีลักษณะคล้ายกับดอกกะหล่ำทั้งหัว
คล้ายอย่างไร? ขอเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการเข้าสู่อำนาจ พบว่ามีการใช้เงินซื้อเสียงในการเลือกตั้งกันทั้งสององค์กร ในรัฐบาลคงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงในที่นี้ เพราะเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะทั่วไปแล้ว ในที่นี้จะขอเล่าถึง อบต. ผู้สมัครในบางตำบลมีการซื้อเสียงถึงหัวละสองพันบาท การทำแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ และถี่ทั้งๆ ที่คนในตำบลก็รู้จักกันดีพอสมควรอยู่แล้ว บางตำบลจ่ายไปถึง 17 ล้านบาทแต่แพ้การเลือกตั้ง ไม่ใช่เพราะอีกทีมหนึ่งมีคุณความดีมากกว่า แต่เป็นเพราะเขาจ่าย 25 ล้านบาท (ข้อมูลจริงในจังหวัดสงขลาครับ)
ในตำบลที่โครงการ “พัฒนา” เกิดขึ้นพบว่า เกือบทุกตำบลทั้งผู้บริหาร และสมาชิกสภาจะมีจุดยืนตรงกันข้ามกับผู้ร้องเรียนที่เดือดร้อนจากผลกระทบเสมอ ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งมักจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตอนหาเสียง บางคนเป็นนายหน้าหาซื้อที่ดินให้โครงการ โดยไม่คำนึงว่าโครงการนั้นจะส่งผลเสียหายต่อประชาชนและญาติมิตรของตนเอง
บางตำบลลงทุนทำเอกสารปลอมว่า เรื่องนั้นๆ ได้ผ่านมติของสภาตำบลแล้วโดยร่วมมือกับปลัด อบต. ซึ่งเป็นเลขานุการ บางตำบลหลอกให้ชาวบ้านเซ็นชื่อเพื่อรับของแจก รับเงินผู้สูงอายุ รับเงินช่วยเหลือน้ำท่วมจากรัฐบาลแล้วนำไปอ้างต่อหน่วยงานที่เหนือชั้นขึ้นไปว่า ได้ผ่านการทำประชาคมแล้ว
ทั้งๆ ที่ อบต.เป็นองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ดูแล และบัญญัติกติกาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ดูแลความทุกข์สุขของประชาชนในระดับพื้นฐานที่สุด แต่แล้วผู้บริหาร และสมาชิกเกือบทั้งหมดก็ทรยศต่อประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้ามา
แทบทุก อบต.ที่ชาวบ้านร้องเรียนมีลักษณะ self-similarity กับรัฐบาลกลางของประเทศ ถ้าจะกล่าวว่าพันธุกรรมของ อบต.คล้ายกันกับพันธุกรรมของรัฐบาลก็น่าจะได้
อาจมีคำถามในทางคณิตศาสตร์ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างฟังก์ชันหรือกติกาขึ้นมาสักอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิด self-similarity เพราะเป็นลักษณะที่สังคมรู้สึกรังเกียจ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ให้ออกแบบกติกา (หรือฟังก์ชัน) ใหม่ เพื่อให้ได้ อบต. ที่เป็นที่ต้องการของประชาชนซึ่งแตกต่างไปจากรัฐบาลที่มีการฉ้อฉล หลอกลวง และคอร์รัปชัน
คำตอบคือ ทำได้ครับ โดยการเปลี่ยนฟังก์ชัน หรือกติกาทางคณิตศาสตร์ซึ่งผมเชื่อว่าไม่น่าจะยากเกินกว่าที่จะค้นหา แต่ในเรื่องของปัญหาบ้านเมืองในระดับ อบต. ถ้าเราต้องการไม่ให้ อบต.มีลักษณะเป็น self-similarity กับรัฐบาลกลางแล้วนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ยากกว่าในคณิตศาสตร์ แต่ผมยังเชื่อว่าเรายังทำได้ โดยการให้สังคมที่ตื่นรู้เป็นผู้กำหนดกติกาความสัมพันธ์ด้วยหลักการมีส่วนร่วม มีธรรมาภิบาลตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง แม้จะยากเย็นสักปานใด แต่เราก็ต้องไม่ท้อถอยที่จะร่วมกันสร้าง จริงไหมครับ
ในทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ กติกาที่ได้ผลอย่างรวดเร็วนั้นควรจะเป็นกติกา (ฟังก์ชัน) ที่นำไปสู่ Chaos (อ่านว่า เค-ออส) ซึ่งมีความหมายว่าไร้ระเบียบ หรืออลหม่าน เงื่อนไขที่จะนำไปสู่สภาวะ Chaos ได้ต้องมี 2 ข้อครับ คือ หนึ่ง ต้องมีกติกาที่เป็น non-linear (ไม่ใช่เชิงเส้น ไม่ขออธิบายในที่นี้) และสอง ต้องมีเงื่อนไขเริ่มต้นที่เหมาะเจาะพอดี
สภาวะเช่นที่ว่านี้ ผมเชื่อว่าเมืองไทยเราใกล้เต็มทีแล้วครับ
โดย...ประสาท มีแต้ม
จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมเป็นคณะอนุกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิชุมชน และฐานทรัพยากร ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนของผู้ร้องที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ และเอกชนมาได้ประมาณ 6 เดือน ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า แต่ละองค์กรของรัฐในประเทศไทยมีลักษณะที่วงการคณิตศาสตร์เรียกว่า “Self-Similarity”
ถ้าจะหาคำแปลในทันทีก็คงจะเข้าใจยาก ดังนั้น ผมจะขออนุญาตอธิบายความหมายด้วยภาษาง่ายๆ ทั้งในเชิงคณิตศาสตร์ ในธรรมชาติ และในองค์กรของรัฐครับ ขอเริ่มต้นด้วยการพิจารณารูปร่างลักษณะของใบเฟิร์นดังรูปข้างล่างครับ
จากรูป เราจะเห็นว่าลักษณะของส่วนที่แยกไปเป็นก้านย่อยที่ระบายด้วยสีแดงและสีน้ำเงินนั้นจะมีลักษณะคล้ายกันมากกับส่วนทั้งหมดของใบเฟิร์นนี้ และเหมือนกับก้านย่อยอื่นๆ ด้วย ตรงนี้แหละครับที่เรียกว่า Self-Similarity คือคล้าย (similar) กับตัวเดิมหรือตัวเอง (self)
คราวนี้ลองพิจารณาลงไปที่ส่วนย่อยของก้านสีแดงอีกครั้ง เราก็จะพบว่าแต่ละส่วนย่อยๆ ของส่วนสีแดงก็มีลักษณะคล้ายส่วนสีแดงทั้งหมด และก็คล้ายกับก้านเฟิร์นใหญ่เดิมทั้งหมดด้วย โดยสรุป ไม่ว่าเราจะพิจารณาส่วนย่อยๆ ใดๆ ของใบเฟิร์นก็จะมีลักษณะคล้ายกับภาพรวมใหญ่ทั้งหมด
ปรากฏการณ์เช่นที่กล่าวมานี้ นักคณิตศาสตร์เรียกว่า “Self-Similarity” หรือความคล้ายกันของระบบย่อยกับระบบใหญ่ ภาพใบเฟิร์นข้างต้นนี้ได้มาจากการสร้างภาพด้วย ฟังก์ชัน (function- หรือกติกา, หน้าที่, ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนที่เป็นเหตุและผลลัพธ์ที่เกิดจากเหตุ) ที่มีการทำซ้ำๆ กัน (iterated function system, IFS) ชนิดหนึ่งในวิชาคณิตศาสตร์ ภาพที่เห็นมาจากการวาดด้วยคอมพิวเตอร์ที่เป็นผลลัพธ์ของฟังก์ชัน
ฟังก์ชัน หรือกติกาที่เปลี่ยนปัจจัยซึ่งเป็นต้นเหตุไปเป็นผลลัพธ์นี้มีความสำคัญมาก ถ้าเราอยากได้ลักษณะที่เป็น Self-Similarity เราจะต้องมีกติกาที่แน่นอนอย่างหนึ่งเท่านั้น หากเปลี่ยนกติกาไปเพียงนิดเดียวก็จะไม่ได้อย่างที่เราหวัง
ในธรรมชาติจริงๆ ก็มีลักษณะ Self-Similarity ปรากฏเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกิ่งของต้นไม้ พืช หรือร่องรอยของกองทรายในทะเลทราย เป็นต้น หัวกะหล่ำข้างล่างนี้ซึ่งเราน่าจะคุ้นเคยกันดีก็มี Self-Similarity แต่อาจจะไม่เคยได้สังเกตลักษณะดังกล่าว ถ้าเราตัดยอดเล็กๆ ของกะหล่ำออกมาก็จะมีลักษณะคล้ายกับกะหล่ำทั้งหัว
ภาพสุดท้ายนี้ก็มีลักษณะ Self-Similarity ที่สร้างขึ้นมาจากฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์ซึ่งเพิ่งสามารถแปลงมาเป็นสีสันสวยงามขึ้นได้ในยุคที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีความก้าวหน้ามากเมื่อประมาณ 30-40 ปีมานี้เอง
ต่อไปนี้มาถึงประเด็นที่ว่า อบต.กับรัฐบาลมีลักษณะเป็น Self-Similarity กันอย่างไร ว่าไปแล้ว อบต. ก็เปรียบเสมือนยอดเล็กๆ ของดอกกะหล่ำที่มีลักษณะคล้ายกับดอกกะหล่ำทั้งหัว
คล้ายอย่างไร? ขอเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการเข้าสู่อำนาจ พบว่ามีการใช้เงินซื้อเสียงในการเลือกตั้งกันทั้งสององค์กร ในรัฐบาลคงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงในที่นี้ เพราะเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะทั่วไปแล้ว ในที่นี้จะขอเล่าถึง อบต. ผู้สมัครในบางตำบลมีการซื้อเสียงถึงหัวละสองพันบาท การทำแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ และถี่ทั้งๆ ที่คนในตำบลก็รู้จักกันดีพอสมควรอยู่แล้ว บางตำบลจ่ายไปถึง 17 ล้านบาทแต่แพ้การเลือกตั้ง ไม่ใช่เพราะอีกทีมหนึ่งมีคุณความดีมากกว่า แต่เป็นเพราะเขาจ่าย 25 ล้านบาท (ข้อมูลจริงในจังหวัดสงขลาครับ)
ในตำบลที่โครงการ “พัฒนา” เกิดขึ้นพบว่า เกือบทุกตำบลทั้งผู้บริหาร และสมาชิกสภาจะมีจุดยืนตรงกันข้ามกับผู้ร้องเรียนที่เดือดร้อนจากผลกระทบเสมอ ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งมักจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตอนหาเสียง บางคนเป็นนายหน้าหาซื้อที่ดินให้โครงการ โดยไม่คำนึงว่าโครงการนั้นจะส่งผลเสียหายต่อประชาชนและญาติมิตรของตนเอง
บางตำบลลงทุนทำเอกสารปลอมว่า เรื่องนั้นๆ ได้ผ่านมติของสภาตำบลแล้วโดยร่วมมือกับปลัด อบต. ซึ่งเป็นเลขานุการ บางตำบลหลอกให้ชาวบ้านเซ็นชื่อเพื่อรับของแจก รับเงินผู้สูงอายุ รับเงินช่วยเหลือน้ำท่วมจากรัฐบาลแล้วนำไปอ้างต่อหน่วยงานที่เหนือชั้นขึ้นไปว่า ได้ผ่านการทำประชาคมแล้ว
ทั้งๆ ที่ อบต.เป็นองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ดูแล และบัญญัติกติกาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ดูแลความทุกข์สุขของประชาชนในระดับพื้นฐานที่สุด แต่แล้วผู้บริหาร และสมาชิกเกือบทั้งหมดก็ทรยศต่อประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้ามา
แทบทุก อบต.ที่ชาวบ้านร้องเรียนมีลักษณะ self-similarity กับรัฐบาลกลางของประเทศ ถ้าจะกล่าวว่าพันธุกรรมของ อบต.คล้ายกันกับพันธุกรรมของรัฐบาลก็น่าจะได้
อาจมีคำถามในทางคณิตศาสตร์ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างฟังก์ชันหรือกติกาขึ้นมาสักอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิด self-similarity เพราะเป็นลักษณะที่สังคมรู้สึกรังเกียจ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ให้ออกแบบกติกา (หรือฟังก์ชัน) ใหม่ เพื่อให้ได้ อบต. ที่เป็นที่ต้องการของประชาชนซึ่งแตกต่างไปจากรัฐบาลที่มีการฉ้อฉล หลอกลวง และคอร์รัปชัน
คำตอบคือ ทำได้ครับ โดยการเปลี่ยนฟังก์ชัน หรือกติกาทางคณิตศาสตร์ซึ่งผมเชื่อว่าไม่น่าจะยากเกินกว่าที่จะค้นหา แต่ในเรื่องของปัญหาบ้านเมืองในระดับ อบต. ถ้าเราต้องการไม่ให้ อบต.มีลักษณะเป็น self-similarity กับรัฐบาลกลางแล้วนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ยากกว่าในคณิตศาสตร์ แต่ผมยังเชื่อว่าเรายังทำได้ โดยการให้สังคมที่ตื่นรู้เป็นผู้กำหนดกติกาความสัมพันธ์ด้วยหลักการมีส่วนร่วม มีธรรมาภิบาลตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง แม้จะยากเย็นสักปานใด แต่เราก็ต้องไม่ท้อถอยที่จะร่วมกันสร้าง จริงไหมครับ
ในทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ กติกาที่ได้ผลอย่างรวดเร็วนั้นควรจะเป็นกติกา (ฟังก์ชัน) ที่นำไปสู่ Chaos (อ่านว่า เค-ออส) ซึ่งมีความหมายว่าไร้ระเบียบ หรืออลหม่าน เงื่อนไขที่จะนำไปสู่สภาวะ Chaos ได้ต้องมี 2 ข้อครับ คือ หนึ่ง ต้องมีกติกาที่เป็น non-linear (ไม่ใช่เชิงเส้น ไม่ขออธิบายในที่นี้) และสอง ต้องมีเงื่อนไขเริ่มต้นที่เหมาะเจาะพอดี
สภาวะเช่นที่ว่านี้ ผมเชื่อว่าเมืองไทยเราใกล้เต็มทีแล้วครับ