xs
xsm
sm
md
lg

“แก้ว” พลาดเหรียญทองเพราะประท้วงเกิน 5 นาที?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจากรอยเตอร์
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ
http://www.facebook.com/verapat

ผมอ่านข่าวที่ “แก้ว พงษ์ประยูร” นักชกไทย ความหวังเหรียญทองโอลิมปิก ถูกตัดสินให้รับ “เหรียญเงิน” มวยสากลสมัครเล่น รุ่นไลต์ฟลายเวต 49 กิโลกรัม แพ้ “จีน” ไปอย่างน่าเสียดาย

ในฐานะนักกฎหมาย ผมตกตะลึงมาก!

ไม่ได้ตะลึงว่าใครต้อง ‘“แพ้” ต้อง “ชนะ” นะครับ กีฬาแพ้ชนะเป็นเรื่องธรรมดา แม้ “แก้ว” จะผิดหวัง แม้จะล้มลงร้องไห้หลังได้ยินผล แต่ “แก้ว” มี “น้ำใจนักกีฬา” กลับขึ้นไปยืนชูเหรียญที่รับมาตามคำตัดสินอย่างสง่างาม วางตัวให้สัมภาษณ์อย่างน่าชื่นชม

แต่สิ่งที่ผมตะลึง คือ “น้ำใจนักกฎหมาย”!

ข่าวหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เมื่อการแข่งขันจบลงอย่างค้านสายตาคนดู “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ นายกสมาคมมวยสากลสมัครเล่นของไทยได้รีบประท้วงกรณีชกแล้วคะแนนไม่ขึ้น แต่ทางเจ้าหน้าที่ของ “ไอบา” (สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ) ไม่รับเรื่องประท้วง โดยระบุว่า เกินเวลา 5 นาทีที่กฎกำหนด

สรุป “ไอบา” ซึ่งเป็นผู้คุมกติกาอ้างว่า เพราะไทยเดินไปประท้วงช้าเกิน 5 นาที จึงเสียสิทธิประท้วง!?
ขอบคุณภาพจากรอยเตอร์
ข่าวรายงานครบถ้วนหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ในฐานะนักกฎหมายจำเป็นต้องย้ำว่า ในโลกใบนี้ไม่มีกฎกติกาอะไรที่ “ไร้สาระ” เช่นนั้น

“กฎ 5 นาที” ที่ “ไอบา” อ้างเพื่อปฏิเสธสิทธิประท้วงของไทยนั้น จะต้องพิจารณาตามกฎระเบียบการแข่งขันที่เรียกว่า AIBA Technical & Competition Rules

กฎ ข้อ 9.11.1 ของ AIBA Technical & Competition Rules กำหนดว่า ทีมนักชกไทยมีสิทธิประท้วงผลภายในเวลา “30 นาที” หลังจากการแข่งขัน

9.11.1 A protest shall be submitted by the Team Leader or by the person having the highest position in the Team Delegation no later than 30 minutes after the completion of the Bout. Any protest shall be against the decision(s) of the Referee and/or Judges of the Bout.

ในทางกฎหมาย ข้อ 9.11.1 ถือเป็น “บททั่วไป” นำไปใช้ได้กับการประท้วงการชกทุกนัด

แต่มีกฎอีกข้อ คือ ข้อ 9.11.6 ซึ่งระบุว่า หากเป็นการชกรอบ “ชิงชนะเลิศ” การประท้วง “ควร” ทำภายใน 5 นาที

9.11.6 A protest during the Finals of a competition should be notified within 5 minutes ofcompletion of the bout.

ในทางกฎหมาย ข้อ 9.11.6 ซึ่งกำหนดว่า “ควร” ประท้วงภายใน 5 นาที ถือเป็น “บทเสริมบททั่วไป” นำไปใช้ตีความประกอบเฉพาะนัด “ชิงชนะเลิศ” ซึ่งแน่นอนว่า หมายถึงนัดที่ “แก้ว” คว้าเหรียญเงินด้วย

แต่ย้ำว่า ในทางกฎหมาย ข้อ 9.11.6 ไม่ใช่ “บทยกเว้น” กล่าวคือ ไม่ได้มายกเว้นว่าเวลาประท้วง 30 นาทีในนัดปกติ จะหดลงเหลือ 5 นาที ในนัดชิงชนะเลิศ แต่บททั่วไปเรื่อง 30 นาที ยังใช้บังคับอยู่ตามเดิม

คำสำคัญ คือ คำว่า “shall be” กับ “should be”

Shall คือ การกำหนดสิทธิหน้าที่ว่า “ต้อง” ทำการประท้วงภายใน 30 นาที

Should คือ การกำหนดแนวทางว่า “ควร” ทำการประท้วงภายใน 5 นาทีหลังนัดชิงชนะเลิศ

การกำหนดเวลา 5 นาที ที่ว่าย่อมเข้าใจเจตนารมณ์ได้ว่า เป็นการกำหนดแนวทางเพื่อให้ทีมฝ่ายที่แพ้ต้องรีบประท้วง ไม่ใช่รอจนนักข่าวรายงานผลเหรียญทองไปทั่วโลกแล้วค่อยมาประท้วงอีกครึ่งชั่วโมง ยิ่งรอบชิงชนะเลิศคนทั้งโลกรอลุ้น ความกดดันยิ่งสูงจะรอช้าไม่ได้

แต่หากพฤติการณ์ของทีมไทย คือ การรีบประท้วงทันที อย่างสมเหตุสมผล แม้จะเกิน 5 นาทีไปเล็กน้อย ไทยเองก็มีสิทธิประท้วงได้

แน่นอนว่า สิทธิในการประท้วงที่ว่า อยู่ภายใต้ดุลพินิจการรับประท้วงของประธานคณะตัดสิน (Chairperson of the Competition Jury) ที่อาจจะปฏิเสธไม่รับการประท้วงก็ได้ (ข้อ 9.11.4)

แต่การไม่รับประท้วงนั้น “ไอบา” ต้องตีความกฎระเบียบให้ถูกบทถูกตัว เหตุผลการใช้ดุลพินิจต้องหนักแน่น ไม่ใช่อ้างง่ายๆ ว่าเกินเวลา 5 นาที ทั้งที่กฎไม่ได้กำหนดแบบนั้น

น่าสังเกตว่า ที่ผ่านมาทาง “ไอบา” เอง เคยนำสิทธิประท้วงที่ว่านี้มา “พลิกผล” การตัดสินมวยรุ่นอื่นที่ “ลอนดอนเกมส์” ไปแล้ว คือ นัดระหว่าง Vikas Krishan (อินเดีย) และ Errol Spence (สหรัฐฯ) สดๆ ร้อนๆ เมื่อไม่กี่วันก่อน

ตอนแรก กรรมการตัดสินให้อินเดียชนะ แต่สหรัฐฯ ไม่ยอม สหรัฐฯ จึงใช้สิทธิประท้วง และทาง “ไอบา” ก็รับประท้วง จากนั้น “ไอบา” ก็ไปแก้ไขคะแนนพลิกให้สหรัฐฯ กลับมาชนะได้

ทาง “อินเดีย” ก็ไม่เบา แม้ไม่ใช่นัดชิงแต่ต่อสู้ไปถึงขั้น “อนุญาโตตุลาการกีฬา” Court of Arbitration for Sports (CAS) แต่สุดท้าย คณะอนุญาโตตุลาการ ก็ตีความว่า ไม่มีอำนาจไปตรวจสอบการตัดสินของ “ไอบา” เกี่ยวกับการประท้วง

ดังนั้น อินเดีย จึงจำยอมการที่ สหรัฐฯ ประท้วง จนกลับมาชนะได้

เห็นได้ว่า กีฬาในยุคปัจจุบัน ไม่ได้สู้กันที่ความสามารถทางกีฬาเท่านั้น แต่ความแตกฉานแหลมคมในทางกฎกติกา ก็สำคัญไม่แพ้กัน

ชาติมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ เวลาแข่งกีฬาก็พกทีม “นักกฎหมายเหรียญทอง” มาพร้อมกัน เผลอๆ มหาอำนาจจีน ก็อาจส่งนักกฎหมายขงเบ้งมาตีความเรื่อง 5 นาที จน “ไอบา” ไม่รับประท้วงของฝ่ายไทยหรือไม่ ก็น่าคิด!

กฎหมาย คือ ศาสตร์แห่งการตีความเพื่อยุติข้อพิพาท และสร้างความยุติธรรม ดังนั้น นักกฎหมายจึงถูกนำตัวไปใช้ในวงการกีฬาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีกีฬาชกมวย ซึ่งอาศัยดุลพินิจของกรรมการในการกดปุ่มให้คะแนน ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่มาไม่นาน และสร้างปัญหามากพอสมควร

การประท้วง จึงไม่ได้ทำไปเพื่อให้ตนกลับมาชนะ แต่ทำไปเพื่อตรวจสอบและรักษากฎกติกา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

จึงต้องกลับมาคิดว่า ทัพนักกีฬาไทย มี “นักกฎหมายเหรียญทอง” ติดตัวไปด้วยหรือไม่ ?

ขอฝากกำลังใจไปยัง “เสธ.อ้าย” ว่า อย่าเพิ่งงอนถอนตัวจาก “ไอบา” แต่โปรดอาศัยเหตุการณ์ “5 นาที” มาเป็น “กรณีศึกษา” หนีบนักกฎหมายไปช่วยตีแผ่ให้ชาวโลกเห็นว่า กฎกติกา และแนวปฏิบัติของ “ไอบา” มีปัญหาอย่างไร อย่างน้อยก็เพื่ออนุชนนักชกไทยที่ยังต้องอาศัย “กติกา” ขึ้นชกต่อไปในอนาคต

มิฉะนั้น “ความไร้น้ำใจของนักกฎหมาย” อาจมาทำให้ “น้ำใจนักกีฬา” ต้องเหือดแห้งตามไปในที่สุด!
กำลังโหลดความคิดเห็น