องค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา และชาวบ้านนำร่องปลูกต้น “ปอเทือง”เป็นปุ๋ยสดบำรุงดิน 300 ไร่ ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร “ทุ่งปอเทืองบานที่รำแดง” ที่กำลังออกดอกบานสะพรั่งเต็มท้องทุ่งนาแห่งตาลโตนด ชมได้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
องค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จ.สงขลา และชาวบ้านในพื้นที่ตำบลรำแดง นำร่องปลูกต้นปอเทืองในแปลงนาหลังสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยว เพื่อให้เป็นปุ๋ยสดบำรุงดิน ในพื้นที่ 300 ไร่ โดยได้นำแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแนะนำให้แก่เกษตรกรทำปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสดใช้เอง เพื่อลดต้นทุน และยังสามารถแก้ความเป็นกรดให้แก่ดินของเกษตรกร โดยใช้ต้นปอเทือง เป็นวัชพืชที่ใช้ทำปุ๋ยสด ซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้จะใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ทำให้ดินเสื่อมโทรม ผลผลิตข้าวลดลงเนื่องจากขาดการบำรุงดิน
นายอุดม ทักขระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง กล่าวว่า ขณะนี้ต้นปอเทือง มีอายุได้ประมาณ 45-50 วัน เริ่มออกดอกเหลืองอร่ามเต็มพื้นที่ในแปลงนา 300 ไร่ และจะออกดอกบานสะพรั่งเต็มทุ่งนาในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จัดงาน “วันทุ่งปอเทืองบานที่รำแดง ครั้งที่ 1” ในวันที่ 1-2 สิงหาคม นี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่สนใจมาชมทุ่งดอกปอเทืองที่ออกดอกสีเหลืองสดบานสะพรั่ง สวยงาม และสร้างเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวของตำบลรำแดง
สำหรับ “ปอเทือง” เป็นพืชปรับปรุงบำรุงดินลักษณะเด่น คือ ให้น้ำหนักปุ๋ยพืชสดมากกว่าพืชตัวอื่นๆ และดอกมีสีสันสวยงาม ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ตำบลรำแดง ซึ่งชาวบ้านยึดอาชีพทำนา และมีระยะเวลาตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 3 เดือน ที่เหลือ ท้องทุ่งนาจะว่างเปล่าไร้ประโยชน์ และขาดการบำรุงดิน เมื่อนำปอเทืองมาปลูกทั่วทั้งท้องทุ่งก็จะเหลืองอร่าม แซมด้วยต้นตาลโตนดสวยงามตามธรรมชาติ
นายอุดม ทักขระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง บอกว่า หลังจากที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมความสวยงามของท้องทุ่งปอเทือง ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ชาวบ้านจะทำการไถกลบปอเทืองลงในแปลงนา เพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และทำให้ดินร่วนซุย ไม่เป็นกรดสามารถอุ้มน้ำได้ดี รากของปอเทืองยังมีความสามารถตรึงธาตุไฮโตรเจน ซึ่งอยู่ในชั้นสูงของบรรยากาศมาเก็บไว้ที่ปมราก ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือยูเรีย ซึ่งมีราคาแพงอีกต่อไป สามารถประหยัดต้นทุนในการทำนา และผลผลิตเพิ่มขึ้น
ภาพ/เรื่อง - ธวัช หลำเบ็ญส๊ะ