ชาวบ้านในพื้นที่บ้านป่าโหนด หมู่7 ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการแบ่งปันกันภายในชุมชนเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต จนกลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ที่อยู่กันอย่างมีความสุข และมีหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาเดินทางมาศึกษาดูงานเพื่อนำไปเป็นต้นเป็นในการดำเนินชีวิตและการสร้างอาชีพ
โดยเฉพาะที่บ้านของ นายจารึก กาลานุสนธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ซึ่งถูกยกให้เป็นบุคคลตัวอย่างในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของบ้านป่าโหนด ได้ใช้พื้นที่ว่างบริเวณบ้านปลูกผักไร้ดิน และเศษวัสดุที่เหลือใช้มาเป็นกระถางปลูกพืชผักสวนครัว รวมทั้งทำน้ำยาเอนกประสงค์ไว้ใช้ในครัวเรือน เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน การทำปุ๋ยหมัก การทำอีเอ็มบอล เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ภายในครัวเรือนจนประสบความสำเร็จ และขยายไปยังเพื่อนบ้านในชุมชน
สำหรับแนวทางการดำเนินการของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาแห่งนี้ จะส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนพึ่งตนเอง ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ โดยการปลูกผักสวนครัว เพื่อใช้บริโภคภายในครัวเรือน อย่างน้อยครัวเรือนละ 9 ชนิด หากครัวเรือนใดปลูกจำนวนมากเหลือกินก็จะนำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันซึ่งกันและกัน หากเหลือจะนำไปขาย โดยเน้นการเกื้อกูลกันของคนในชุมชนเพื่อให้มีอยู่มีกินอย่างมีความสุข
อาจารย์ธัญญานุช ละออกอ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมนักศึกษาและครูผู้สอนรายวิชากิจกรรมองค์การวิชาชีพและวิชาเศรษฐกิจพอเพียง วิทยาลัยเทคโนโลยีวชิราโปลีเทคนิคสงขลา ซึ่งนำนักเรียนมาศึกษาดูงาน กล่าวว่า เหตุที่นำนักศึกษามาดูงานบุคคลตัวอย่างที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากว่าในสภาพปัจจุบันนี้ถ้าเรานำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้กับชีวิตจริงๆ จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับครอบครัว เพราะสามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นักศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของครอบครัวตัวเองได้