xs
xsm
sm
md
lg

ตร.สงขลาฝึกยุทธวิธีใหม่จากสหประชาชาติควบคุมฝูงชนตามแผนรักษาความสงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ทำการฝึกทบทวนกองร้อยควบคุมฝูงชนยุทธวิธีใหม่จากสหประชาชาติ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพกองร้อยควบคุมฝูงชนตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ตามแผนรักษาความสงบเรียบร้อยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่บริเวณสนามหญ้า ภายในสนามกีฬาติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา พ.ต.อ.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เป็นประธานในการตรวจการฝึกทบทวนกองร้อยควบคุมฝูงชนยุทธวิธีใหม่ ซึ่งกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ได้จัดการฝึกขึ้นโดยได้ทำการฝึกทบทวน ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาทุกสถานีตำรวจ จำนวน 2 กองร้อย 310 นาย เข้ารับการฝึกทบทวน และเพิ่มประสิทธิภาพในครั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ปฏิบัติการควบคุมฝูงชน ตามแผนรักษาความสงบเรียบร้อยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดกองร้อยควบคุมฝูงชน ได้มีความรู้ ความเข้าใจ และเกิดทักษะเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติมากยิ่งขึ้น

โดยมีการสมมติสถานการณ์ว่า มีการชุมนุมประท้วงของประชาชน มีการเรียกร้องโดยกลุ่มผู้ชุมนุม และทางราชการได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเจรจาต่อรอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ การชุมนุมทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ผู้ควบคุมกองร้อยได้สั่งกำลังเข้าสกัด และใช้ยุทธวิธีทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมสลาย จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าทำการควบคุมฝูงชน และควบคุมแกนนำ พร้อมทั้งทำการยึดรถกลุ่มผู้ชุมนุมและเข้าเคลียร์พื้นที่ ทางกองร้อยควบคุมฝูงชนที่ผ่านการฝึกยุทธวิธีใหม่ได้มีการสาธิตการฝึกที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมฝูงชน

พ.ต.อ.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การฝึกยุทธวิธีใหม่จากสหประชาชาติเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก ที่สำคัญ การฝึกยุทธวิธีใหม่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพแก้ไขข้อบกพร่อง เดิมจะมีปัญหาในเรื่องการสั่งการผู้ที่สั่งการอยู่ด้านหลังถึง 3 ชั้น ไม่สามารถสั่งการทีมปฏิบัติการที่อยู่ด้านหน้าได้ การฝึกทบทวนกองร้อยควบคุมฝูงชนชุดนี้จะปฏิบัติงานกันเป็นทีม ทีมละ 5 นาย ในแต่ละหมู่จะแบ่งออกเป็น 2 ทีม ใน 1 หมวดแบ่งเป็น 2 หมู่ ใน 1 กองร้อย แบ่งเป็น 3 หมวด ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัวมากขึ้น เมื่อเกิดสถานการณ์การชุมนุม วิธีการสกัดกั้นแก้ไขสถานการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมจะรวมกำลังเป็นกองร้อย มี 2 หมวดปฏิบัติการอยู่ด้านหน้าอีก 1 หมวดอยู่ข้างหลังในการสนับสนุน หากมีการก่อวินาศกรรมเราก็จะส่งทีมปฏิบัติการเข้าไปซึ่งมีความสามารถที่จะสกัดกั้นได้

ส่วนในด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม หรือเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บก็จะส่งทีมผู้ปฏิบัติเข้าไป 1 ทีมเข้าให้การช่วยเหลือทันที ในอดีตการสั่งงานจะสั่งเข้าไปเป็นหมวด ทำให้การเคลื่อนที่มีความลำบากไม่มีความคล่องตัว แต่หากผู้ก่อความไม่สงบจะเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำได้แค่ยันเอาไว้ แต่คราวนี้มีการปรับยุทธวิธีให้กลุ่มที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่หลุดเข้ามาในวงล้อม เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้ในเวลาอันรวดเร็ว



กำลังโหลดความคิดเห็น