xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยุติธรรมติดตามเยียวยาเหยื่อไฟใต้ ย้ำดูแลสภาพจิตใจควบคู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดยะลา ติดตามความคืบหน้าและตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกรณีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ด้านเหยื่อไฟใต้ให้กำลังใจเพื่อนร่วมชะตากรรมให้มีกำลังใจสู้ต่อไป

เวลา 08.30 น.วันนี้ (28 พ.ค.) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการเยียวยาฯ และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่ หัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ

จากการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อประชุมคณะกรรมการเยียวยาผู้ไดรับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 4/2555 เพื่อให้การดำเนินงานให้ความช่วยเหลือเยียวยาในทางปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาในการเร่งนำสันติสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยในช่วงเช้า พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะได้เดินทางไปเยี่ยม นางแก้วตา เขียวยะ ที่บ้านเลขที่ 23 ถ.ผังเมือง 5 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา หลังจากสามีเจ้าของร้านเสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดร้านก๋วยเตี๋ยวโบราณ เขตเทศบาลเมืองยะลา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2548 ที่ผ่านมา ในขณะนั้น นางแก้วตา ได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะตั้งครรภ์ 6 เดือน และหลังจากคลอดบุตร คือ ด.ช.สรชัช เขียวยะ มีความพิการแขนขาลีบอ่อนแรงตั้งแต่กำเนิด แพทย์ลงความเห็นว่าได้รับความกระทบกระเทือนจากแรงอัดระเบิด ปัจจุบัน อายุ 8 ขวบ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปที่บ้านของ นายปรีชา วงค์เอี่ยม อายุ 58 ปี อาชีพเดิมขับรถแบ็กโฮ ถูกยิงเมื่อปี 2549 ขณะขับรถกลับบ้านที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ได้รับบาดเจ็บจนพิการขาทั้ง 2 ข้าง ขณะรักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เคยคิดจะกระโดดตึกโรงพยาบาล เพื่อฆ่าตัวตาย แต่คิดว่าชีวิตนี้ต้องสู้ได้กำลังใจจากครอบครัวและพยาบาล หลังจากออกจากโรงพยาบาลไม่ได้กลับไปอยู่ที่บ้าน แต่มาเช่าบ้านอยู่หน้าโรงพยาบาลศูนย์ยะลา เพื่อจะได้มาทำกายภาพบำบัดทุกวัน บางวันก็ทำหน้าที่แจกบัตรคิวทำกายภาพให้คนไข้

และจากการที่ภรรยาของนายปรีชาขี่รถจักรยานยนต์ไม่เป็น นายปรีชาจึงทำรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง เพื่อขี่ไปโรงพยาบาลและพาภรรยาไปซื้อกับข้าว ปัจจุบัน นายปรีชา มาเปิดแผงรับทำกุญแจที่หน้าโรงพยาบาลศูนย์ยะลา เพื่อเป็นรายได้เพิ่ม และทำให้ตนเองมีคุณค่า ไม่คิดจะไปฆ่าตัวตาย

ซึ่งนายปรีชา ได้กล่าวแสดงความขอบคุณต่อ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ที่ได้ให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบ โดยตนเองนั้นเป็นเพียงแค่หนึ่งในจำนวนอีกหลายพันคนที่ยังต้องยืนหยัดต่อสู้กับผลกระทบทางด้านจิตใจที่ตามมาหลังจากเกิดเหตุการณ์

นอกจากนี้ นายปรีชายังได้ฝากบอกกับเพื่อนผู้ได้รับผลกระทบทุกคนว่าให้มีกำลังใจต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ตนเองหลายครั้งเคยคิดฆ่าตัวตายมาแล้ว แต่ในวันนี้ยืนหยัดลุกขึ้นสู้เพราะได้กำลังใจจากคนรอบข้าง สิ่งสำคัญคือเราต้องช่วยตัวเองก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นมาช่วยเหลือเรา

นอกจากนี้ นายปรีชายังได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลของผู้พิการในพื้นที่ด้วย

ทางด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการเยียวยาฯ เจตนารมณ์คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ควรทำอย่างไรให้คนข้างหลังได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ให้เป็นภาระของสังคม โดยได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การเยียวยาไม่แบ่งศาสนา ต้องเสมอภาค นี่คือเป้าหมายของการเยียวยาที่ไม่ใช่เพียงแค่จ่ายเป็นตัวเงิน แต่ต้องดูแลสภาพจิตใจในการเข้าไปเยี่ยมเยียน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ โดยสร้างองค์กรของผู้ได้รับผลกระทบให้มีส่วนร่วมช่วยเหลือดูแลกัน เปรียบเสมือนการรวมศูนย์ความช่วยเหลือเยียวยาที่ต้องดูและทั้งระบบ

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวด้วยว่า หลังจากที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เปิดช่องทางในการรับลงทะเบียนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการเยียวยาไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ ควรสำรวจข้อมูลที่ตกหล่น และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ทำอย่างไรให้ได้ใจประชาชน โดยใช้หลักจิตวิทยามวลชน

สำหรับการช่วยเหลือเยียวยา อยากให้มีความชัดเจนในการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง เป็นมาตรฐานสากล การเยียวยาไม่ใช่กฎหมาย แต่ควรใช้หลักมนุษยธรรมและคุณธรรม ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตั้ง แล้วจัดลำดับความจำเป็นของกลุ่มเป้าหมายนั้น เช่น กลุ่มหัวหน้าครอบครัวที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ ต้องส่งเสริมอาชีพอย่างยั่งยืน และการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับจำนวนผู้มาลงทะเบียนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2555 จำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 5,251 คน แบ่งเป็น จังหวัดยะลา 1,463 คน ปัตตานี 1,768 คน นราธิวาส 1,823 คน และจังหวัดสงขลา (อำเภอเทพา นาทวี จะนะ สะบ้าย้อย) 197 คน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะนำเข้าสู่ฐานระบบของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งต่อให้ทางอำเภอตรวจสอบความถูกต้อง และประมวลผลถึงความเหมาะสมในแต่ละกรณี สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ลงทะเบียนเพิ่มเติม ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่งในการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น