xs
xsm
sm
md
lg

"หมู่บ้านแม่หม้าย" จากพื้นที่เสี่ยงภัย สู่พื้นที่แห่งการพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ท.หญิง วาสนา หอมหวล
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

ไฟที่ยังคงครุกรุ่นหลังจากถูกเติมเชื้อไฟให้ประทุขึ้นเมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา เราคงปฏิเสธมิได้ถึงผลกระทบที่ตามมามากมายนานัปประการ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้กระทั่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เองก็ตาม บางคนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นำมาซึ่งการอพยพ ว่างงาน หากซ้ำร้ายกว่านั้นหากครอบครัวใดต้องขาดผู้นำครอบครัวไปแล้วล่ะก้อ คงจะต้องพบกับจุดเปลี่ยน....ความกดดันมากมายที่ถาโถมเข้าใส่ ไม่ได้แค่เฉพาะความรับผิดชอบที่ผู้ซึ่งเป็นช้างเท้าหลังจะต้องนำพา “ครอบครัวที่ขาดเสาหลัก” ให้ก้าวเดินต่อไป หรือต้องรับภาระดูแลลูกๆ เพียงลำพังโดยมิทันตั้งตัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกรอบเกณฑ์ในชีวิตอีกมากมายที่พวกเธอต้องเผชิญ ทั้งจากบริบททางสังคม ค่านิยม ศาสนา และวัฒนธรรม ส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง

ครั้นเมื่อ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดนราธิวาส เมื่อปลายปี 2547 และได้ทรงทราบถึงความเดือนร้อน ความทุกข์ยากของราษฎรจึงได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือครอบครัว เจ้าหน้าที่ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจัดซื้อที่ดินในการจัดตั้ง “โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” ที่บ้านรอตันบาตู หมู่ที่ 7 ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความตอนหนึ่งว่า

“....ต่อไปนี้มีโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่หมู่บ้านรอตันบาตู ที่จังหวัดนราธิวาสนั้น ข้าพเจ้าได้นำเงินที่ท่านทั้งหลายมอบให้ข้าพเจ้าในโอกาสอายุครบ 72 พรรษา ไปจัดซื้อที่ดินจำนวน 707 ไร่ ที่นราธิวาสและขอให้ทางหน่วยทหาร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และส่วนราชการต่างๆ ช่วยข้าพเจ้าจัดสร้างบ้าน 150 หลัง เพื่อช่วยเหลือครอบครัวของประชาชน ข้าราชการ พลเรือน ทหาร ตำรวจ ทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมที่สูญเสียหัวหน้าครอบครัว เนื่องจากเหตุการณ์ที่เรียกว่า โดนฆ่ารายวัน ซึ่งเป็นเวลามา 2 ปีแล้ว...”

ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายในอันที่จะสนองพระราชดำริที่พระราชทานไว้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจึงได้พิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ราษฎรได้มีที่อยู่อาศัย และมีที่ดินทำกิน สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ พื้นที่ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือพื้นที่หมู่บ้านเศรษฐกิจ พอเพียงและพื้นที่ฟาร์มตัวอย่าง โดยมีลักษณะพึ่งพาอาศัยกันและกันในการดำเนินกิจการ

จาก “หมู่บ้านแม่หม้าย” กลายเป็น “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง”
หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง บ้านรอตันบาตู มีพื้นที่ 338 ไร่ จัดสรรแบ่งพื้นที่ จำนวน 150 แปลงๆ ละ 2 ไร่ โดยสร้างบ้านพักให้แก่ครอบครัว ผู้ประสบเคราะห์กรรมจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต เป็นการตอบแทนบุญคุณผู้เสียสละชีวิตในการปกป้องผืนแผ่นดินไทย โดยพื้นที่บริเวณรอบบ้านได้ยกร่องสวน เพื่อให้ผู้อาศัยทำการเพาะปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ปีกไว้เป็นอาหารและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

แรกเริ่มเดิมทีผู้คนได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านแม่หม้าย” เนื่องจากครอบครัวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านล้วนขาดผู้นำครอบครัว เหลือเพียงผู้หญิงที่จะต้องกระเถิบบทบาทตนเองมาเป็นผู้นำครอบครัวแทน ปัจจุบันราษฎรในหมู่บ้านได้รับความสุข ความปลอดภัย และได้รับประโยชน์จากโครงการที่พระราชทานความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่าง “พอเพียง”

“พระองค์ทรงเป็นแม่ของแผ่นดินไทย ทุกคนที่มาอยู่ที่นี่ ถ้าไม่มีพระองค์ท่านนึกไม่ออกจริงๆ ว่าทุกคนจะอยู่กันอย่างไร ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลต่อพวกเรามากมาย ไม่ว่าจะต่อจิตใจหรือครอบครัวของพวกเราเอง อย่างเมื่อก่อนเป็นแม่บ้านเมื่อต้องเสียสามีไปก็ต้องทำหน้าที่ทั้งพ่อบ้านแม่บ้านให้ได้ เพราะยังมีลูกๆ ที่เราต้องรับผิดชอบและดูแลเขาให้ดีเพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้าด้วย เมื่อได้มาอยู่ที่บ้านรอตันบาตูทุกคนต่างได้เรียนรู้ร่วมกัน เราอยู่กันอย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่ทำให้เรามีความสุขร่วมกันได้

อยากจะฝากถึงคนไทยทุกคน อยากให้ทุกคนรู้ว่าพระองค์ท่านทรงเป็นห่วงราษฎร์ทุกคนถึงแม้ว่าเราจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ตาม พระองค์ท่านมีแต่ให้ แล้วเราล่ะได้ตอบแทนบุญคุณของพระองค์ท่านได้ดีแล้วหรือยัง ? ....แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราอบอุ่นใจได้ก็คือความรักที่คนไทยเรามีให้กันเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ภาคไหน ศาสนาใดๆก็ตาม อยากจะเห็นภาพแบบนี้อยู่คู่กับคนไทยเราไปนานๆ” คำกล่าวและแววตาปลื้มปิติคงเป็นสิ่งที่ฉายชัดได้ถึงความรู้สึกของหนึ่งในสมาชิกบ้านรอตันบาตูแห่งนี้ที่ผู้เขียนสามารถสัมผัสได้

อีกส่วนหนึ่งของพื้นที่เป็นส่วนของฟาร์มตัวอย่าง เป็นแหล่งผลิตอาหาร-แหล่งสร้างงาน-ต้นแบบแห่งการเรียนรู้ พื้นที่ฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านรอตันบาตู มีประมาณ 378 ไร่ แนวทางการดำเนินงานของโครงการจะเป็นลักษณะที่ให้ราษฎรเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยมุ่งหวังที่จะให้ฟาร์มตัวอย่างเป็นแหล่งผลิตหรือศูนย์ผลิตอาหารอย่างแท้จริงในอนาคต เป็นแหล่งสร้างแรงงานให้ราษฎร ทำให้ราษฎรมีอาชีพและรายได้เสริม รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ในการประกอบอาชีพให้กับผู้สนใจสามารถนำไปดำเนินการได้เอง โดยเน้นการสาธิตด้านเกษตรกรรม และการพัฒนาที่ดินจากสภาพพื้นที่นาร้างและพื้นที่ดินเปรี้ยวที่มีอยู่ทั่วไปในจังหวัดนราธิวาส ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเกิดประโยชน์กับราษฎรหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านรอตันบาตู และราษฎรที่อยู่ใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง

เปลี่ยนพื้นที่ “สีเหลือง-แดง” ให้เป็นพื้นที่ “สีเขียว”
ด้วยเพราะสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยทุกข์สุขของราษฎรผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากความ ไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้แล้ว พระองค์ท่านยังทรงพระราชทานโครงการที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน การสร้างรายได้ สามารถดูแลจุนเจือครอบครัวได้แล้ว ในทางยุทธศาสตร์อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวในอดีตเป็น “พื้นที่สีเหลือง-แดง” วันนี้ได้พลิกฟื้นกลายเป็น “พื้นที่สีเขียว” พื้นที่ที่มีความบริบูรณ์ของอาหารและอุดมไปด้วยความสุขของพี่น้องในบ้านรอตันบาตูแห่งนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น