xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-มาเลย์ ซ้อมแผนร่วมช่วยเหลือดินโคลนถล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - เจ้าหน้าที่ อ.เบตง จ.ยะลา จัดซ่อมแผนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ อ.เปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ฝึกซ้อมแผนป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุดินโคลนถล่ม หลังทั้ง 2 ประเทศเสี่ยงภัยดินโคลนถล่ม

วันนี้ (23 พ.ค.) ที่กองอำนวยการฝึกซ้อม ด่านศุลกากรเปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย นายมูสุกรี บิน อัซรี ปลัดอำเภอเปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย เป็นประธานการฝึกซ้อมแผนโครงการฝึกซ้อมแผนป้องกัน และช่วยเหลือผู้ประสบเหตุดินโคลนถล่ม โดยมี น.ส.ทับทิม ชาติวัฒนธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลเบตง นายดำรง ดำรงค์สินธ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเมืองเบตง เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพ กู้ภัย อำเภอเบตง บุคลากรหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม

นายดำรง กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการฝึกซ้อมฯ ว่า จากพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.เบตง จ.ยะลา กับ อ.เปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ตลอดเส้นทางมีพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกหนัก และมีเส้นทางถนนที่เลียบติดเชิงเขาสันกาลาคีรี และมีปริมาณน้ำในแม่น้ำปัตตานีที่รับน้ำจากประเทศมาเลเซีย กำลังหนุนสูงขึ้น จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดินโคลนถล่ม ที่อาจทำให้เกิดความสูญเสียต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จึงได้จัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่ม โดยวิเคราะห์จากลักษณะดิน สภาพการใช้ที่ดิน ความลาดชันของพื้นที่ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา และสถิติของพื้นที่ที่เคยเกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก เพื่อประมวลผล และจัดทำเป็นแผนที่เตือนภัย และแจ้งเตือนภัยพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มให้เกษตรกร และประชาชนทั้ง 2 ประเทศได้รับทราบข้อมูลล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ในพื้นที่ อ.เบตงจ.ยะลา มี 5 ตำบล จำนวน 32 หมู่บ้าน 25 ชุมชน และพื้นที่เทศบาลเมืองเบตงเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เนื่องจากองค์ประกอบทางกายภาพของพื้นที่เป็นพื้นที่ลาดชันริมเชิงเขา การขยายตัวของตัวเมือง การปรับเปลี่ยนสิ่งปกคลุมดิน การกีดขวางการระบายน้ำ หากมีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสะสมสูงอาจก่อให้เกิดน้ำไหลหลาก และเกิดดินถล่มได้ การฝึกซ้อมแผนป้องกัน และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและดินถล่มในครั้งนี้

จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และพัฒนาศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ บุคลากรของหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดทั้งการประสานการปฏิบัติ และการขอรับสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุดเมื่อเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดี และการตอบสนองต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติ รวมทั้งการระดมทรัพยากรด้านต่างๆ

นายมูสุกรี บิน อัซรี ปลัดอำเภอเปิงกาลันฮูลู กล่าวว่า สำหรับการฝึกซ้อมในครั้งนี้ แบ่งเป็นภาควิชาการ ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมในที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) และการฝึกซ้อมปฏิบัติการจริง (Field Training Exercise : FTX) โดยมีกิจกรรมหลักตามสถานการณ์สมมติ เกิดฝนตกหนัก และมีรถตู้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย จำนวน 2 คัน พร้อมผู้โดยสารคันละ 7 คน มาจาก อ.เบตง จ.ยะลา มุ่งหน้ากลับรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อขับผ่านบริเวณจุดตรวจทางเข้าด่านเปิงกาลันฮูลู โดยรถตู้คันแรกต้องเบรกอย่างกะทันหัน และได้ชนท้ายรถเก๋งที่จอดอยู่กลางถนน เนื่องจากถูกดินโคลนถล่มทับทำให้คนขับถูกฝังกลบอยู่ใต้โคลน และมีผู้บาดเจ็บ 2 คน

และได้ทยอยนำผู้โดยสารออกจากรถ ในขณะเดียวกัน รถตู้คันที่ 2 ที่วิ่งตามมาได้หักหลบรถตู้คันแรกจนเสียหลักพุ่งชนเข้าร้านอาหารทำให้เกิดแรงระเบิด และไฟไหม้ลุกลามเข้าไปในร้านอาหาร จนทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดที่อยู่ในรถได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต จากเหตุการณ์ดังกล่าวเกินขีดความสามารถของหน่วยงานในพื้นที่ จำเป็นต้องระดมสรรพกำลังด้านบุคลากร ทรัพยากร ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม คัดแยกให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย การลำเลียงส่งต่อผู้ป่วยของทีมแพทย์ และพยาบาล

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมวางแผนแก้ไขปัญหาหากเกิดสาธารณภัยขนาดใหญ่ และจำเป็นต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้เครื่องจักรกลเฉพาะด้าน ซึ่งภาครัฐไม่มีเครื่องมือนั้นๆ ทาง อ.เบตงจึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงการบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกับกองบรรเทาสาธารณภัย อ.เปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย








กำลังโหลดความคิดเห็น