สงขลา - รัฐเร่งจัดระบบตาดีกา รองรับหลักสูตรใหม่ เน้นพัฒนาคุณภาพผู้สอน ชมรมยอมรับ เนื้อหาสูงกว่าศักยภาพครู ส่งผลให้เด็กมีคุณภาพการศึกษาต่ำ แนะเพิ่มวิทยากรอบรมพูดภาษามลายู
นายอาซิ มะเด็ง ประธานชมรมตาดีกามะรือโบตก ตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และผู้บริหารโรงเรียนตาดีกาฮีดายาตุลซูเบียน หมู่ที่ 3 ตำบลมะรือโบตก เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2555 สำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปนิเทศครูตาดีกาตามโรงเรียนต่างๆ ในอำเภอระแงะ และสั่งให้โรงเรียนตาดีกา จัดทำระบบข้อมูลและเอกสารของโรงเรียน เช่น ทะเบียนนักเรียน บัญชีรายรับรายจ่าย และใบวัดผลการศึกษาของนักเรียน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพของครูตาดีกาตามหลักสูตรอิสลามศึกษาฟัรฎูอีนประจำมัสยิด พ.ศ.2548/ฮ.ค.1426 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2550
นายอาซิ เปิดเผยว่า หลักสูตรดังกล่าว เป็นหลักสูตรใหม่ที่รัฐนำมาใช้ แทนหลักสูตรตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2540 ของมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนใต้ (PERKASA) ที่ใช้ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนนำหลักสูตรใหม่มาใช้ นักเรียนมีผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจ แต่หลังจากใช้หลักสูตรใหม่ ผลการเรียนของนักเรียนต่ำลงกว่าเดิม จึงต้องใช้ทั้ง 2 หลักสูตรควบคู่กัน
นายอาซิ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอระแงะ ได้เข้ามาติดตามผลการเรียนของนักเรียน และแจกสื่อการเรียนการสอนเพื่อเป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนของครู ส่วนชมรมตาดีกามะรือโบตกเอง คิดที่จะสร้างมุมภาษามลายูในโรงเรียนตาดีกา เพื่อยกระดับภาษาให้แก่ครูและนักเรียน โรงเรียนตาดีกาในชมรมตาดีกามะรือโบตกใช้ทั้ง 2 หลักสูตรควบคู่กัน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก เพราะหลักสูตรเดิม นักเรียนจะเข้าใจง่ายกว่า ส่วนการใช้หลักสูตรใหม่ เป็นการสนองนโยบายรัฐบาล
นายอับดุลวอฮา สาอุ คณะทำงานฝ่ายวิชาการ มูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนใต้ (PERKASA) เปิดเผยว่า หลังจากโรงเรียนตาดีกาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เปลี่ยนมาใช้หลักสูตรอิสลามศึกษาฟัรฎูอีนประจำมัสยิด พ.ศ.2548/ฮ.ค.1426 ของกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้คุณภาพของนักเรียนตาดีกาลดลง เนื่องจากหลักสูตรดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความสามารถของนักเรียน เพราะคณะผู้จัดทำหลักสูตรบางคนไม่ใช่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่มีความรู้เรื่องตาดีกาดีพอ
“นอกจากนี้ ครูตาดีกาไม่มีศักยภาพพอที่จะสอนได้ครบตามหลักสูตรของรัฐบาล หากต้องการให้สอนได้ครบตามหลักสูตรดังกล่าว จำเป็นต้องเพิ่มระยะเวลาในการสอนให้มากขึ้น เนื่องจากโรงเรียนตาดีกาเปิดสอนเพียง 2 วัน คือวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ส่วนวันจันทร์ถึงวันศุกร์เด็กต้องไปเรียนสามัญ”
นายอับดุลวอฮา เปิดเผยอีกว่า หลักสูตรดังกล่าว มีการเน้นเนื้อหาด้านวิชาการ มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กำหนดให้มีกิจกรรม และมีการผสมผสานสื่อการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งต่างจากหลักสูตรเดิมที่เน้นเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจมากกว่า ทำให้เกินศักยภาพของครูตาดีกา เดิมโรงเรียนตาดีกาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้หลักสูตรตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2540 มาตั้งแต่ปี 2540 เป็นหลักสูตรที่จัดทำโดยมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนใต้ (PERKASA) หลังจากเกิดเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลพยายามให้โรงเรียนตาดีกาอยู่ภายใต้การดูแลของราชการและนำหลักสูตรใหม่มาใช้แทนหลักสูตรเดิม ทั้งที่ความจริงโรงเรียนตาดีกาเป็นการศึกษานอกระบบ
นายอัดนัง อาแวบือซา หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิศูนย์ตาดีกานราธิวาส กล่าวว่า วิทยากรอบรมครูตาดีกาให้สามารถสอนตามหลักสูตรของรัฐบาลไม่ใช่คนที่เกี่ยวข้องกับตาดีกาโดยตรง และไม่มีความรู้เรื่องตาดีกาดีพอ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของครูตาดีกาได้ ปัญหานี้ต้องแก้ไขโดยนำผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตาดีกา และมีความชำนาญด้านภาษามลายูมาเป็นวิทยากรอบรม
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)