พัทลุง - ชาวบ้านใน จ.พัทลุง หันผ่าลูกหมากขายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ดีหลังราคาเพิ่มตกกิโลกรัมละ 20–21 บาท/กก. ส่งขายออกนอกประเทศ เกษตรจังหวัด เผยภาคใต้ปลูกหมากมากที่สุดของประเทศ
วันนี้ (28 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า จากสภาวะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวราคาสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าพืชผลทางด้านการเกษตรได้ปรับราคาสูงขึ้นตาม โดยเฉพาะสินค้าทางด้านการเกษตร ที่นำมาเป็นส่วนผสมของอุตสาหกรรมเคมี ทำสีต่างๆ และสกัดเป็นยารักษาโรค อย่างหมากแห้งได้ปรับราคาสูงขึ้นเกือบเท่าตัว และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นตลอดฤดูการผลิตปีนี้
นางสาวรอฮะห์ จิตนารี ชาวบ้าน หมู่ 3 บ้านด่านโลด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ทุกปีในเดือนมีนาคม จะเป็นฤดูเก็บเกี่ยวหมากสุก แล้วนำมาผ่าตากแดดให้แห้ง เพื่อส่งขายให้แก่พ่อค้า ซึ่งจะมีพ่อค้าเข้ามาซื้ออย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย มีจำนวนเท่าใด หมากก็ขายหมด ราคาก็อยู่ในเกณฑ์ดี
โดยราคาเคลื่อนไหวมาอยู่ที่ 20-21 บาท/กก. และหากนำไปขายถึงเอเยนต์ใหญ่ ราคา 24 บาท/กก. ในช่วงระยะนี้ โดยปีนี้ราคาหมากตากแห้งมีราคาสูง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งราคาเริ่มต้น ที่ 14 บาท จากปีที่แล้ว 7 บาท และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นตลอดเวลา โดยมีการคาดการณ์ว่าไม่ต่ำกว่า 60-70 บาท/กก. ซึ่งส่งผลดีต่อชาวสวนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง แม้การปลูกหมากในพื้นที่จะไม่ปลูกเป็นสวนขนาดใหญ่ แต่ก็สามารถสร้างรายได้มาเสริมครอบครัวอีกทางหนึ่ง
ซึ่งตนเองนั้น ปลูกหมากเป็นสวนผสม คู่กับการปลูกผลไม้อื่น และจากราคาหมากสดที่มีราคาแค่กิโลกรัมละ 2 บาท เมื่อนำมาผ่าตากแห้ง เพียง 1 วัน ก็สามารถขายได้ โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน ในขณะที่เพื่อนบ้านบางรายไม่ได้ปลูก แต่ก็ไปซื้อหมากสดมาจากชาวสวนรายอื่น นำมาผ่าแล้วตากแห้งก็มีรายได้ดีเช่นกัน
ทางด้านนายไพรวัลย์ ชูใหม่ นักวิชาการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า สำหรับหมากซึ่งแหล่งปลูกในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ ภาคกลาง พื้นที่ปลูกหมากของไทยมีประมาณ 116,756 ไร่ ผลผลิตรวม 437,010 ตัน จังหวัดที่มีมากที่สุด คือ จังหวัดชุมพร รองลงมาคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระนอง ฉะเชิงเทรา พัทลุง ตรัง พังงา ระยอง นครปฐม และสุราษฎร์ธานี ในส่วนของจังหวัดพัทลุง ได้มีการปลูกหมากกันทุกพื้นที่ และปลูกมากที่สุดในพื้นที่อำเภอกงหรา อำเภอตะโหมด อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอศรีบรรพต ตามลำดับ
หมากจะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม จะส่งเป็นสินค้าส่งออกในรูปของหมากสด และหมากแห้ง หมากสดส่วนใหญ่จะขายเป็นหมากอ่อน (ส่งไต้หวัน) หรือทิ้งไว้ให้สุกเพื่อทำหมากแห้งต่อไป การบริโภคหมากของไทยสูงถึง 88% ที่เหลือ 12% จะเป็นการส่งออกในรูปของหมากสด และหมากแห้ง
ซึ่งเมล็ดหมาก เมื่อนำมาสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยาง และสารอัลคาลอยด์ ชื่อ Arecoline มีแทนนินสูง จึงสามารถใช้ในทางอุตสาหกรรม และยารักษาโรคได้หลายชนิด เช่น ทำสีต่างๆ ใช้ย้อมแห อวน ทำให้นิ่มและอ่อนตัว ยืดอายุการใช้งานได้นาน เส้นด้ายไม่เปื่อยเร็ว ใช้สกัดทำยารักษาโรค เช่น ยาสมานแผล ยาขับพยาธิในสัตว์ ยาแก้ท้องเดิน ท้องเสีย ยาขับพิษ ยาทาแก้คัน น้ำมันนวด ยาขับปัสสาวะ และยาแก้ปากเปื่อย เป็นต้น
ด้านอุตสกหรรมใช้สกัดเป็นน้ำยาฟอกหนัง จะทำให้หนังนิ่มและมีสีสวย ที่ประเทศอินเดียมีจำหน่ายในชื่อต่างๆ กันคือ Gambier catechu, Begal catechu, Bombay catechu หมากแห้งส่งออกรายใหญ่ของไทย มีปากีสถาน เกาหลี แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยในปี 2544-2546 มีรายได้ถึง 410.97 ล้านบาท 429.59 ล้านบาท และ 478.89 ล้านบาท ตามลำดับ หมากที่ปลูกเป็นเชิงการค้าของโลก มีประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และไทย