xs
xsm
sm
md
lg

“หนังสงฟ้า” ศิลปินดีเด่นด้ามขวานที่ 2 ศิลปินโลกยังยอมรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ปิดฉากชีวิต “หนังสงฟ้า ตะลุงศิลป์” ศิลปินดีเด่นบนแผ่นดินด้ามขวาน ผู้เป็นทั้งนายหนังตะลุง ผู้แสดงหนังตะลุงคน และช่างแกะสลักตัวหนังที่มีลูกศิษย์มากมาย ขนาด 2 ศิลปินอิตาลีที่มีชื่อเสียงระดับโลกยังยอมรับฝีมือ เคยได้รับเข็มพระราชทานจาก “พระเทพฯ” เผย “นครินทร์ ชาทอง” ศิลปินแห่งชาตินำทัพศิลปินใต้ร่ายคำอำลาอาลัยไว้สุดซึ้ง

จากการที่ นายสง ศรีทวีกูล หรือ “หนังสง” หรือ “สงฟ้า” ศิลปินดีเด่นจังหวัดสงขลา สาขาช่างฝีมือ ได้เสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านต้นตอ ม.7 ต.รัตภูมิ อ.ควนเนียง จ.สงขลา และจะฌาปนกิจ ณ เมรุวัดบ้านกรอบ อ.ควนเนียง ในวันพฤหัสที่ 29 มี.ค.นั้น

สำหรับประวัติ นายสง เกิดเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2477 ที่บ้านเลขที่ 85 ม.7 ต.รัตภูมิ อ.ควนเนียง เป็นบุตรของนายโหรน ศรีทวีกูล กับนางเหมือน จันทฤทธิ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน และพี่น้องต่างบิดา 2 คน จบการศึกษา ป.4 จากโรงเรียนบ้านควนเนียง แล้วไปสอบได้นักธรรมชั้นโทและชั้นตรี สมรสกับนางอั้ว อำไพ มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน ก่อนหย่าร้างแล้วไปแต่งงานใหม่กับนางหวง ศรีทวีกูล มีบุตรธิดาด้วยกันอีก 2 คน


 
รางวัลแห่งชีวิตนายหนังตะลุง

เคยเป็นใหญ่บ้าน ม.7 ต.รัตภูมิ ยึดอาชีพนายหนังตะลุงมาตั้งแต่ปี 2497 ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “คณะหนังสงจองาม” หรือ “หนังสงฟ้า ตะลุงศิลป์” จากนั้นปี 2516 ก็หันมาแสดงหนังตะลุงคน ในนาม หนังโขนใต้ ศรีวิชัย อ.ควนเนียง และริเริ่มก่อตั้ง “วันชุมนุมหนังตะลุง” ร่วมกับนายฉวาง เสาวพงศ์ นายอำเภอรัตภูมิขณะนั้น ขณะเดียวกันก็ยังเป็นกรรมการสุขาภิบาล ต.ควนเนียง พนักงานคุมความประพฤติผู้ที่ได้รับการพักโทษ

ปี 2540 ได้เป็นประธานสภาวัฒนธรรม อ.ควนเนียง พร้อมๆ กับเป็นประธานชมรมหนังตะลุงพื้นบ้านศรีวิชัย อ.ควนเนียง ปี 2542 เป็นประธานโครงการฝึกทักษะสอนศิลปะ ศิลปินพื้นบ้าน อ.ควนเนียง ปี 2526 เป็นกรรมการโรงเรียนบ้านควนเนียง อำเภอควนเนียง ปี 2539 เป็นประธานจัดงานมหกรรมหนังตะลุง งานฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี อ.ควนเนียง จังหวัดสงขลา ปี 2542 เป็นกรรมการ กต.ตร.ของ สภ.ควนเนียง ปี 2553 เป็นกรรมการก่อตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดควนเนียง ม.5 ม.7 และ ม.10 ต.รัตภูมิ ปี 2545 เป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา 3

รางวัลเชิดชูเกียรติที่หนังสงได้รับ ประกอบด้วย ปี 2516 ถ้วยเกียรติยศนายหนังตะลุงยอดเยี่ยมวัดควนเนียง และถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ศึกหนังตะลุงทางสถานีวิทยุสงขลา ปี 2523 ได้รับประกาศนียบัตรการอบรมหลักสูตรการเมืองระดับผู้ปฏิบัติ รุ่นที่ 6 จากกองบัญชาการพลเรือนตำรวจทหารที่ 41 ปี 2533 ได้รับใบประกาศหลักสูตรการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้านตามประกาศเกียติคุณผู้ใหญ่บ้านดีเด่นชั้นที่ 2

ปี 2540 ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม เขตการศึกษา 3 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และใบประกาศเกียรติคุณผู้สนับสนุนศิลปินดีเด่นระดับอำเภอ สภาสหพันธ์ชมรมศิลปินพื้นบ้านศรีวิชัย ปี 2541 ได้รับใบประกาศเกียรติคุณผู้สนับสนุนการจัดขบวนบุพชาติและขบวนแห่วัฒนธรรม งานมรดกล้ำค่าบูชาพระธาตุ จังหวัดสงขลา (เขาตังกวน) ใบประกาศบุคคลตัวอย่างดีเด่นในการอนุรักษ์ส่งเสริมสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นพื้นบ้านจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สาขา อ.ควนเนียง และใบประกาศเกียรติคุณร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ท้องถิ่นพื้นบ้านและเผยแพร่วัฒนธรรมการแกะสลักรูปหนังตะลุงจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปี 2543 ได้รับโล่เชิดชูเกียรติศิลปินดีเด่นจังหวัดสงขลา สาขาช่างฝีมือ จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี 2547 ได้รับโล่เชิดชูเกียรติภูมิปัญญาท้องถิ่น สาขาศิลปกรรมดีเด่น จากสำนักงานบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ปี 2548 ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติ คนดีศรีสงขลา และวันที่ 12 มี.ค.2555 ได้รับเข็มพระราชทานจากสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดย ดร.พจนี เทียมศักดิ์


 
ผลงานที่ 2 ศิลปินระดับโลกยังยอมรับ

หนังสงเป็นผู้มีความสนใจในงานศิลปะมาตั้งแต่อายุประมาณ 8 ขวบ โดยได้รับการถ่ายทอดงานศิลปะการแกะสลักรูปหนังตะลุงจากน้าชายคือ นายชื่น ศรีทวีกูล จนสามารถแกะสลักรูปหนังตะลุงด้วยกระดาษกระสอบปูน ระบายด้วยสีผสมอาหาร และนำไปเคลือบเทียนไขเหลว หรือแกะสลักบนกระดาษขาวเทาแล้วระบายด้วยสีน้ำมัน แล้วนำไปจำหน่ายในงานวัดเพื่อรายได้เสริม นำเงินที่ได้ไปซื้อขนมหรืออุปกรณ์การเรียน รวมทั้งนำไปใช้สำหรับฝึกหัดแสดงหนังตะลุงด้วยตนเอง

เนื่องจากมีใจรักและหลงใหลในศิลปะแขนงนี้เป็นอย่างมาก และตลอดช่วงชีวิตของหนังสงได้อุทิศแรงกายแรงใจให้กับการแกะสลักรูปหนังตะลุง และการแกะสลักไม้เป็นรูปหนังตะลุง ซึ่งเป็นงานที่สร้างสรรค์ประยุกต์ให้เข้ากับสภาวะความต้องการและความสนใจของสังคม เพื่อที่จะส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านการแกะสลักรูปหนังตะลุง และการแกะสลักไม้เป็นรูปหนังตะลุง ให้คงอยู่กับคนใต้และคนไทยไปชั่วกาลนาน

การแกะสลักรูปหนังตะลุง ถือเป็นศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคใต้ หนังสงจึงได้จัดนิทรรศการและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการแกะสลักรูปหนังตะลุง เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก เยาวชนและผู้สนใจ จนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แม้กระทั่งศิลปินระดับโลกชาวอิตาเลี่ยนอย่าง นายลุยจิ ออนตานี่ และ นายเยรินี่ ลูซาโน่ ก็ให้ความสนใจและให้การสนับสนุนในผลงานของเขา

ผลงานอีกด้านที่หนังสงชื่นชอบและมีความสามารถในการถ่ายทอด คือ งานด้านบทกลอน และเขียนเรื่องหนังตะลุง เช่น เรื่องจักรนรินทร์, ธรรมรงค์คู่บัลลังก์, ดาบกู้ชาติ, อภินิหารกุมารน้อย, ขุนศึกใจสิงห์ ฟ้าหญิงใจเสือ เป็นต้น

แม้กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต หนังสงก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานการแกะสลักหนังตะลุงและการแกะสลักไม้เป็นรูปหนังตะลุง ด้วยใจรักและมุ่งมั่นที่จะสืบทอดศิลปะแขนงนี้ให้คงอยู่ตราบชั่วลูกชั่วหลาน แต่สิ่งสำคัญยิ่งที่ทำให้ปราบปลื้มใจและมีความสุขอย่างที่สุด คือ การมีทายาทผู้สืบทอดเจตนารมณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแขนงนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งก็คือบุตรชาย และบุตรสะใภ้ของเขาเอง คือ นายสรรเสริญ-นางนิภาภรณ์ ศรีทวีกูล

สำหรับการทำคุณประโยชน์แก่สังคมนั้น หนังสงได้จัดทำศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ อ.ควนเนียง เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาตามอัธยาศัยในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้, ถ่ายทอดความรู้ เผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปะการแกะสลักรูปหนังตะลุง และการแสดงหนังตะลุง ให้คงอยู่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติสืบไป, สร้างชื่อเสียงให้ อ.ควนเนียงเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศว่าเป็นดินแดนแห่งศิลปินหนังตะลุง, เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนอาชีพเกี่ยวกับศิลปะหนังตะลุงในทุกรูปแบบ

หลากถ้อยคำอำลา-อาลัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานฌาปนกิจที่จะมีขึ้น ณ เมรุวัดบ้านกรอบ อ.ควนเนียง ในวันที่ 29 มี.ค.นั้น เจ้าภาพได้เตรียมจัดทำหนังสือประวัติหนังสงไว้แจกจ่ายผู้ไปร่วมงานด้วย โดยใช้ชื่อหนังสือว่า “ผู้สืบศิลป์เสริมศาสตร์สร้างชาติชน” ซึ่งนำมาจากบทกวีที่ ’รูญ ระโนด เขียนเพื่อไว้อาลัยให้เนื้อหาดังนี้…

นาม “สง ศรีทวีกูล” มิสูญดับ
ชั่วกัลป์กัปสืบสายลวดลายศิลป์
ผู้สร้างสรรค์สื่อความหมายในแผ่นดิน
ผู้สืบศิลป์เสริมศาสตร์สร้างชาติไทย

แผ่นดินใต้ไม่ตกต่ำถูกสานต่อ
การเกิดก่อศิลปกรรมข้ามสมัย
หนังตะลุงผดุงถิ่นระบิลไกล
ชาติฝรั่งยังหลงใหลในฝีมือ

คารวะดวงวิญญาณอันสูงส่ง
นาม “หนังสง” คู่ดินฟ้าน่านับถือ
คุณความดีที่เลิศล้ำจักร่ำลือ
รำลึกชื่อ “สงฟ้า” จิรกาลฯ

ขณะที่ นายนครินทร์ ชาทอง หรือหนังนครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติ ได้เขียนกลอนถึงการจากไปของหนังสงไว้เช่นกัน ใช้ชื่อบทว่า “ชีวิตคือฉากหนึ่งของละครโลก”

ตอนเราอยู่ ดูโลก ล้วนโศกสุข
บ้างสนุก สนาน หวานเชียวหนา
แต่บางคน ละเหี่ย เสียน้ำตา
ตามลีลา ละคร ตอนแสดง

โรงละคร ก่อนจาก มากเรื่องอยู่
หากใครรู้ บทบาท อาจแถลง
รู้เท่าทัน “มายา” ที่มาแรง
ทุกหนแห่ง ปรากฏ บทละคร

ด้าน นายบุญชวน บัวสว่าง วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การเสียชีวิตของหนังสงถือเป็นการสูญเสียบุคลากรทางด้านวัฒนธรรมที่สำคัญอีกคนหนึ่ง การสูญเสียบุคลากรทางด้านวัฒนธรรม 1 คน ทำให้ชาติเสียมรดกทางวัฒนธรรมอันหาค่ามิได้ไป โดยเฉพาะหนังสงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความมุ่งมั่นสูงในการที่จะสืบทอดภูมิปัญญาด้านการแกะสลักหนังตะลุง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางด้านศิลปะการแสดงทางภาคใต้ ที่นับวันจะเลือนรางห่างหายไป ทั้งยังพัฒนางานฝีมือให้ร่วมสมัยเพื่อให้สืบทอดไปยังคนรุ่นใหม่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

นางธารารักษ์ ภู่ริยะพันธ์ วัฒนธรรมประจำอำเภอควนเนียง กล่าวว่า รู้สึกเสียดายและมีความอาลัยมาก เพราะได้รู้จักและร่วมงานกันมาเป็นเวลานาน ถือได้ว่าหนังสงเป็นครูภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า มีทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นนายหนังตะลุงที่ได้สร้างสรรค์งานให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนมากมาย ทุกครั้งที่มีการจัดการด้านวัฒนธรรมไม่ว่างานไหนงานนั่น จะเห็นหนังสงนำผลงานที่ได้สร้างสรรค์ไปสู่สาธารณะชนเสมอ

นอกจากนี้ยังมีคำอาลัยของศิลปินด้วยกัน เช่น หนังประเสริฐ รักษ์วงศ์ เลขาธิการสมาคมศิลปินพื้นบ้าน จ.สงขลา, นายชัย เหล่าสิงห์ นายกสมาคมศิลปินพื้นบ้าน จ.สงขลา, หนังนิพนธ์ ศ.นครินทร์ ประธานชมรมหนังตะลุง อ.รัตภูมิ, นายสวัสดิ์ ยางทอง ประธานสภาวัฒนธรรม ต.บางเหรียง, นายอิ่ม ชุมลออ นักประพันธ์กลอนและเรื่องหนังตะลุง, นายมานิตย์ เพ็งผ่อง ศิษย์หนังตะลุงรุ่นสุดท้าย รวมถึงลูกชายผู้สืบทอดเจตนารมณ์ นายสรรเสริญ ศรีทวีกูล ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอควนเนียง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น