xs
xsm
sm
md
lg

บ.ซาลามานเดอร์ จัดประชุมรับฝังความคิดเห็นติดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุมพร - บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด ประชุมรับฟังความคิดเห็นการตั้งแท่นขุดเจาะพื้นที่อ่าวไทย แปลงสัมปทาน B8/38 แฉแจ้งแต่สื่อกรมประชาสัมพันธ์ ให้พิมพ์ข่าวเผยแพร่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายพินิจ เจริญพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานประชุมการรับฟังความคิดเห็น ในโครงการการพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ผลิตบัวหลวง แปลงสำรวจปิโตรลียมในทะเลอ่าวไทย หมายเลข B8/38 โดยมีตัวแทนหน่วยราชการ กลุ่มประมง องค์กรอนุรักษ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตามขั้นตอนของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอขออนุมัติจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.ต่อไป

ทั้งนี้ แปลงสำรวจปิโตรลียมในทะเลอ่าวไทย หมายเลข B8/38 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 375 ตารางกิโลเมตร สำหรับแท่นหลุมผลิต BLWPB ที่จะดำเนินติดตั้งนั่น จะมีสะพานความยาม 50 เมตร เชื่อมไปยังแท่นหลุมผลิตเดิม และเมื่อวัดระยะห่างจาก ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ประมาณ 110 กิโลเมตร และ เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประมาณ 65 กิโลเมตร และห่างจากชายฝั่ง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไปทางทิศประมาณ 242 กิโลเมตร โดยมีระดับความลึกของน้ำทะเลบริเวณพื้นที่โครงการประมาณ 55 เมตร
ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรจัดรับฟังความเห็นติดตั้งแท่นเจาะน้ำมัน
บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด วางแผนจะเริ่มดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิต BLWPB ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 เจาะหลุมผลิตได้ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 โดยจะสิ้นสุดการเจาะในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 และคาดว่าจะเริ่มการผลิตปิโตรเลียมจากแท่นหลุมผลิต BLWPB ได้ในช่วง ไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2556 ต่อเนื่องไปจนหมดอายุของพื้นที่ผลิตบัวหลวง คือประมาณปี พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ ระยะการผลิตปิโตรเลียมของเหลวจากหลุมผลิต ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำจากกระบวนการผลิต จะถูกสูบขึ้นมาด้วยเครื่องสูบปิโตรเลียมชนิดติดตั้งในหลุมผลิต โดยไฟฟ้าที่ใช้สำหรับเครื่องสูบมาจากเรือกักเก็บและผลิตปิโตรเลียม ชื่อ Rubicon Vantage ที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ผลิตบัวหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเรือดังกล่าวสามารถบรรทุกน้ำมันดิบได้ 570,100 บาร์เรล ของเหลวทั้งหมด (ปริมาณสูงสุด 40,000 บาร์เรลต่อวัน) จะถูกสูบขึ้นมาตามท่อกรุจนถึงปากหลุมของแท่นหลุมผลิต BLWPB ผ่านชุมทางท่อผลิต และท่อขนส่งขนาด 10 นิ้ว ที่อยู่บนสะพาน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับท่อขนส่งของแท่นหลุมผลิต BLWPA บริเวณเครื่องส่งอุปกรณ์ทำความสะอาด จากนั้นของเหลวทั้งหมดจะถูกส่งผ่านท่อขนส่งในทะเล ไปยังกระบวนการผลิตบนเรือผลิตและกักเก็บปิโตรเลียม ผ่านอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนจนเข้าสู่หน่วยแยก 3 สถานะ ซึ่งของเหลวที่ได้จะถูกแยกออกเป็นน้ำมัน น้ำ ก๊าซ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจัดให้มีขึ้นเมื่อ เวลา 09.00 น. วันที่ 12 มี.ค. 55 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศูนย์ราชการจังหวัดชุมพร มีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมราว 30 คน โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ได้รับแจ้งซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดของกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และสื่อมวลชนบางรายที่มีความสนิทเป็นการส่วนตัวและอยู่ในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น เพื่อให้ข่าวที่พิมพ์เผยแพร่นำเสนอแจกจ่ายไปยังสื่อมวลชนหลัก สื่อท้องถิ่น และสถานีวิทยุคลื่นต่างๆ ให้ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น