xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาสังคมแนะ‘ผู้หญิงชายแดนใต้’ใช้สื่อสร้างพลังขับเคลื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แกนนำภาคประชาสังคม แนะกลุ่มผู้หญิงชายแดนใต้ ใช้สื่อใหม่สร้างพลังขับเคลื่อนแก้ปัญหา ผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ย้ำไม่เป็นนักข่าวก็ทำสื่อได้

วันนี้(12 มี.ค.) ที่ห้อง A 310 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ใน“วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2” เครือข่ายสตรีครอบครัวและชุมชนชายแดนใต้ ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนงานสตรีชายแดนใต้โดยใช้พลังสื่อ”

ผู้นำเสวนา ประกอบด้วย นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นางสาวฐิตินบ โกมลนิมิ คณะทำงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นายตูแวดานียา มือรืองิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน นางโซรยา จามจุรี นางยะห์ อาลี ประธานเครือข่ายวิทยุชุมชน จ.ปัตตานี มีนางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น ผู้จัดรายการวิทยุ มอ.ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายมูฮำมัดอายุบ กล่าวว่า ต้องการให้เครือข่ายผู้หญิงสื่อสารเรื่องของผู้หญิงเอง เนื่องจากมีองค์ความรู้เรื่องผู้หญิงอีกมากที่ยังไม่ถูกนำเสนอ และควรสื่อสาร 2 ทาง ผ่านสื่อมัลติมีเดียที่มีอยู่ ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ ฯลฯ เชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ เพื่อให้เครือข่ายได้รับรู้และเข้าใจปัญหาผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้

นางสาวฐิตินบ กล่าวว่า ตนไม่คาดหวังให้เครือข่ายผู้หญิงเป็นนักข่าว แต่ต้องการให้สื่อสารเรื่องของตัวเอง เพื่อสื่อสารกับคนนอกพื้นที่ถึงสภาพปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านช่องทางทางอินเตอร์เน็ต ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ฯลฯ

“กรณีทหาร 3 คน ข่มขืนเด็กหญิงมุสลิมแล้วถ่ายคลิป นัยลึกๆ เหมือนผู้ชายไทย ข่มขืนหญิงมุสลิม ด้วยความรู้สึกว่าเป็นชาติพันธุ์อื่น เครือข่ายผู้หญิงจะสื่อสารออกไปอย่างไร เพื่อกำจัดกับทรรศนะคตินี้” นางสาวฐิตินบ กล่าว

นายตูแวดานียา กล่าวว่า ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวเป็นนักเล่าเรื่องได้ โดยอาจหยิบยกนำเสนอความเป็นผู้หญิง การเป็นแม่ของลูกว่า ขณะตั้งท้องต้องทำอะไรบ้าง การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีทำอย่างไร ผ่านรายการวิทยุเสียงผู้หญิงชายแดนใต้ ซึ่งมีคนฟังเป็นพันเป็นหมื่นคน

“กรณีการกระทำชำเรา หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้แต่งงาน ไม่ควรมองว่าคนต่างศาสนากระทำกับคนมุสลิม เพราะบางทีมุสลิมก็ย่ำยีกันเอง ขณะนี้ยังมีมุสลิมจำนวนหนึ่งขายตัวอยู่ตามโรงแรม ทำอย่างไรที่จะสื่อสารเรื่องราวออกมา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน” นายตูแวดานียา กล่าว

นางโซรยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสื่อส่วนใหญ่พาดหัวข่าวโจรใต้จนเกร่อ เสนอเนื้อหาเพียงแค่ปรากฏการณ์ ไม่ติดตามต่อเนื่องไปจนถึงกระบวนการต่อสู้คดี ส่วนรัฐไทยก็ใช้กำลังทหารปราบปรามด้วยอาวุธ และบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น พอพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจก็หาว่าเป็นบันไดสู่การแบ่งแยกดินแดน
กำลังโหลดความคิดเห็น