xs
xsm
sm
md
lg

อัศจรรย์พุทธประเพณีแห่ผ้าห่ม “พระธาตุบางแก้ว” -ชม “เรือโบราณ” หาเลขเด็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ตามปฎิทินไทยเป็นวันมาฆบูชา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศความรักอันบริสุทธิ์ต่อสัตว์โลกทั้งปวงนานกว่า 2,000 ปีมาแล้ว ด้วยโอวาทปาติโมกข์อันเป็นธรรมนำชีวิตสัตว์โลกให้สวัสดีมีสุข

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานหาดใหญ่ เดินตามรอยพลังแห่งความเลื่อมใสศรัทธา นำคณะพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีแห่ผ้าพระบฎพระบรมธาตุเจดีย์บางแก้วทางบก และยิ่งใหญ่ด้วยขบวนแห่ทางน้ำ ซึ่งเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย ณ วัดเขียนบางแก้ว ตั้งอยู่ ม.4 ต.จองถนน อ.เขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ที่มีอายุร่วมพันปี โดยสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 13 หรือ พ.ศ.1482 สมัยศรีวิชัย


ขบวนเรือนำผ้าแห่ทางน้ำ โดยรวบรวมจากผู้มีจิตศรัทธาและออกเดินทางจากหาดแสนสุขเพื่อมายังวัดเขียนบางแก้ว
โดยมีนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง, นางสาวสุพัชรี ธรรมเพชร ส.ส.ประชาธิปัตย์ จ.พัทลุง และนายสานันท์ สุพรรณชนะบุรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ร่วมเป็นประธานเดินนำกระแสฝูงชนพุทธมามกะจากทั่วสารทิศที่คงไว้ซึ่งความสงบนิ่งและน่าเกรงขามของการแก่ผ้าพระบฎเพื่อสักการะพระพุทธเจ้า เดินเวียนรอบองค์พระธาตุบางแก้วจำนวน 3 รอบ ก่อนจะนำมาพันรอบองค์พระธาตุที่ตระหง่าน


พระธาตุบางแก้ว สันนิษฐานว่าสร้างจากอิทธิพลของพระมหาธาตุเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช แต่มีขนาดที่เล็กกว่า
ทั้งนี้ วัดเขียนบางแก้วนั้น ตามบันทึกและการสืบค้นของนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา โดยได้รับอิทธิพลจากสร้างจากพระบรมธาตุเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช แต่มีขนาดเล็กกว่า และพบวัตถุโบราณที่สำคัญได้แก่ ศิวลึงค์และฐานโยนีที่แสดงถึงการติดต่อรับอารยธรรมจากอินเดียสมัยต้นประวัติศาสตร์ และอาจเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายในสมัยอยุธยาตอนต้น

ก่อนที่จะเสื่อมความเจริญจากการบุกรุกของโจรสลัดมลายูที่เผาทำลายเสียหายหนัก และบูรณะวัดเขียนบางแก้วครั้งใหญ่ 2 ครั้ง ทว่า กลับถูกปล่อยให้เป็นวัดเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงให้แก่พม่า ครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 จนกระทั่งได้รับการบูรณะและดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ในสมัยปลายรัชการที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เศียรช้างปูนปั้นที่ได้รับอิทธิพลจากจีน
สำหรับพระมหาธาตุเจดีย์บางแก้ว เป็นเจดีย์ก่ออิฐฐานแปดเหลี่ยม วัดโดยรอบยาว 16.50 เมตร สูงถึงยอด 22 เมตร รอบพระมหาธาตุบริเวณฐานซุ้มพระพุทธรูปโค้งมน 3 ซุ้ม กว้าง 1.28 เมตร สูง 2.63 เมตร ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ รอบพระเศียรมีประภารัศมีรูปโค้ง ขนาดหน้าตักกว้าง 0.94 เมตร สูง 1.25 เมตร ระหว่างซุ้มพระมีเศียรช้างปูนปั้นโผล่ออกมา เหนือซุ้มพระมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม อิทธิพลศิลปจีน ด้านทิศตะวันออกมีบันไดสู่ฐานทักษิณ เหนือบันไดทำเป็นซุ้มยอดอย่างจีน มุมบันไดทั้ง 2 ข้าง มีซุ้มลักษณะโค้งแหลม

ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนูนสูง ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิเพชร ฐานทักษิณและฐานรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ แต่เดิมเป็นรูปมารแบก เหนือฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่มุม องค์ระฆังเป็นแบบโอคว่ำถัดจากองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประดับด้วยถ้วยชาม
มุมของบัลลังก์ทั้ง 4 ด้านมีรูปกาปูนปั้นมุมละ 1 ตัว ซึ่งหมายถึงสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ทั้ง 4
ทั้งสี่มุมของบัลลังก์มีรูปกาปูนปั้นมุมละ 1 ตัว ซึ่งหมายถึงสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ทั้ง 4 (พระมหาพันธ์ ธมมนาโก สร้างไว้เมื่อ ปี 2515) ส่วนยอดสุดเป็นพานขนาดเล็ก 1 ใบ ภายในมีดอกบัวทองคำ จำนวน 5 ดอก 4 ใบ (ทองคำถูกขโมยไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2521)
อาคารหนึ่งของวัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมสิ่งของโบราณที่เก็บพบในบริเวณนั้น



ส่วนอีกวัดหนึ่งที่จะไม่กล่าวแล้วจะถูกเรียกว่ามาไม่ถึง จ.พัทลุงนั้น คือ วัดยางงาม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่มีอายุมากกว่า 206 ปี ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลลำปำ อำเภอเมือง และมีความสวยงามของโบราณสถานอีกแห่งหนึ่ง

ตามประวัติเล่าว่าผู้สร้างคือ “จอมแพ่ง-จอมจ่า” แต่เป็นใครนั้นไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่ทำเนียบวัดของพระครูอริยสังวร อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุงระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ 2348 โดยอาศัยนักโทษที่คุมขังในคุกเมืองพัทลุงมาร่วมสร้าง จึงสันนิษฐานว่า “จอมแพ่ง” และ “จอมจ่า” อาจเป็นผู้คุมหรือพัศดีเรือนจำคุมนักโทษภายในวัดยางงาม
อุโบสถวัดยางงามก่อด้วยอิฐถือปูน มีช่อฟ้า ใบระกา หัวเสามีลายปูนปั้นรูปกลีบบัว คันทวยไม้จำหลักเป็นตัวนาค
โบราณวัตถุสถานที่สำคัญของวัด คือ อุโบสถซึ่งมีลักษณะสวยงามมาก เป็นอุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน มีช่อฟ้า ใบระกา หัวเสามีลายปูนปั้นรูปกลีบบัว คันทวยไม้จำหลักเป็นตัวนาค หน้าบันด้านหน้าจำหลักไม้รูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
หน้าบันอุโบสถด้านหน้าจำหลักไม้รูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
ด้านหลังเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 3 เศียร ขอบหน้าต่างและประตูประดับด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ใบไม้ ภายในอุโบสถมีพระประธานปูนปั้นทรงเครื่องใหญ่ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีประมาณ 1.50 เมตร เพดานอุโบสถเขียนลายทองรูปดาว ลายดอกไม้ ลายไก่ฟ้า สวยงามมาก ฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อย่างไรก็ตาม วัดแห่งนี้เริ่มเป็นที่กล่าวขานในกลุ่มนักเสี่ยงโชค นับตั้งแต่เมื่อกลางปี 2553 ที่พระอธิการยงยศ เจ้าอาวาสวัดยางงาม ฝันว่ามีผู้ชายสมัยโบราณมาบอกให้ท่านช่วยนำเรือออกจากลำคลองใกล้วัดซึ่งเชื่อมต่อไปสู่ทะเลสาบสงขลานั้น เมื่อท่านเห็นว่าอาจจะเป็นลางดีที่ได้คนสมัยนั้นอยากให้ลูกหลานได้เก็บทรัพย์สมบัติของคนในสมัยก่อน จึงลองเสี่ยงนำชาวบ้านมาช่วยกันค้นหาเรือโบราณใต้ลำคลองตามที่ฝันไว้

จนกระทั่งความพยายามประสบผลสำเร็จเพื่อพบเรือขุดโบราณจมอยู่ใต้น้ำลึกประมาณ 8 เมตร จำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นเรือขุดที่ทำจากไม้ทั้งต้น และจากการคาดคะเนอายุจากคนเฒ่าคนแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่น่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 140 ปี โดยใช้เวลาร่วม 15 วันกว่าจะกู้ขึ้นมาสำเร็จ

นอกจากนั้นยังพบข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เครื่องปั้นดินเผาของคนโบราณอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากบริเวณที่พบเป็นท่าเรือเก่าในสมัย ร.5 หลังจากนั้นจึงมีการค้นหาและพบเรือเพิ่มอีก 26 ลำ แต่มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์เสียหายบางส่วน

และภายหลังจากข่าวการพบซากเรือโบราณกระจายออกไป มีชาวบ้านใกล้เคียงเข้าชม และเริ่มมีการขอโชคลาภตามความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีทั้งการบนบานศาลกล่าว การลูบหาเลขเด็ดจากเรือ เมื่อคำขอสมประสงค์ก็จะหวนกลับมาแก้บน ทั้งการนำผ้าแพร ดอกไม้ พวงมาลัย และเครื่องใช้สอยสำหรับสตรี ทั้งรองเท้า เครื่องสำอาง เสื้อผ้ามาถวาย ซึ่งปัจจุบันนั้นมีเครื่องเซ่นไหว้เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับจำนวนผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสายทั้งชาวไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
และสำหรับนักเดินทางท่านใดที่มีโอกาสเยือน จ.พัทลุง แล้วสนใจเยี่ยมชมวัดเขียนบางแก้วและวัดยางงามแล้ว สามารถเดินทางได้ทุกวัน หากต้องการรายละเอียดหรือสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่ โทร.074-243747
กำลังโหลดความคิดเห็น