xs
xsm
sm
md
lg

อัด “รัฐบาล-นายทุน” ต้นเหตุคอร์รัปชันเชิงนโยบายทำสังคมไทยเหลื่อมล้ำสุดกู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เวทีเสวนาหานโยบายและมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ที่หาดใหญ่ร้อน เครือข่ายในภาคใต้ร่วมสะท้อนปัญหา ชี้ นักการเมือง-นายทุน ร่วมแสวงหาอำนาจและโอกาสออกนโยบายเอื้อคนรวย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จนมี 2 มาตรฐานซ้ำเติมให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ พ้อ 5 จชต.ยังเป็นคนไทยที่ไม่ควรทอดทิ้ง และต้องช่วยเหลือด้านการเข้าถึงโอกาสในทุกกลุ่ม

วันนี้ (21 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00-15.30 น.ณ ห้องประชุมสมิหลา A โรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะทำงานเศรษฐกิจมหาภาค การเงิน การคลัง ร่วมกับคณะทำงานด้านการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล และคณะทำงานการมีส่วนร่วมการกระจายอำนาจ และสนับสนุนเครือข่าย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง “นโยบายและมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม” โดยมีตัวแทนเครือข่ายเอกชนต่างๆ ในภาคใต้เข้าร่วมสะท้อนปัญหา

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง กล่าวว่า การจัดเวทีเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นมาที่ จ.เชียงใหม่, ขอนแก่น, หาดใหญ่ ก่อนจะสัญจรไปยังสระแก้ว และ กรุงเทพฯ ตามลำดับ โดยหลังจากที่ลงพื้นที่และจัดเวทีเสวนาเพื่อรวบรวมปัญหาต่างๆ โดยให้ประชาชน ชาวบ้าน และปราชญ์ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่แล้ว ใช้นำข้อมูลประกอบการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะนโยบายและมาตรการความเหลื่อมล้ำฯ โดยให้นักวิชาการที่มีความชำนาญแต่ละด้านมาร่วมวิเคราะห์และหาแนวทางคลี่คลายปัญหา แล้วจะส่งให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับไปพิจารณาอีกครั้งภายในระยะเวลา 2 เดือนนับจากนี้ ก่อนนำเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีต่อไป

**จวกนโยบายรัฐเอื้อคนรวยเอาเปรียบรากหญ้า
นายสิทธิพร จริยพงศ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี สะท้อนปัญหาภาพรวมในสังคมไทย ว่า รัฐนั่นเองที่ทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำ โดยเห็นได้จากการใช้นโยบายของรัฐช่วยเหลือประชาชน แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุน ทำให้กลุ่มเกษตรกรที่เป็นรากฐานของประเทศถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด

ไม่เว้นแม้แต่เหตุมหาอุทกภัยภาคกลางในหลายจังหวัด รัฐบาลหันมาเอาใจด้วยนโยบายปกป้องและช่วยเหลือนิคมอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม แต่สำหรับชาวบ้านที่พื้นที่เกษตรเสียหายนับล้านไร่รัฐช่วยเหลือเพียงแค่ไร่ละ 5,000 บาทเท่านั้น โดยยังไม่รู้ชะตากรรมต่อไป และหากทำการเกษตรใหม่ก็ต้องเผชิญกับการผูกการค้าในรูปแบบทุนนิยมของกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มของประเทศ ทั้งเมล็ดพันธุ์, อาหาร, ปุ๋ย และสารเคมีชนิดต่างๆ ซึ่งเมื่อพืชผลได้ราคาดีสินค้าเหล่านี้ก็จะปรับขึ้นราคาไปด้วย แต่เมื่อใดที่ผลผลิตราคาตกค่ำ สินค้ากลุ่มนี้ก็มิได้ลดลงไปด้วย เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรซ้ำสอง

นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องจมอยู่กับปัญหาไร้ที่ทำกินเป็นของตัวเอง เพราะกลุ่มทุนกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร บางรายถูกโรงงาน บริษัทมาตั้งใกล้ๆ เพื่อบีบให้ขายที่ เมื่อมลพิษเข้ามาก็ไม่สามารถทำเกษตรได้ จุดอ่อนเพราะยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองพื้นที่เกษตร

มิหนำซ้ำ รัฐยังปล่อยให้นายทุนรุกป่า รุกเขาออกเอกสารสิทธิ์กันอย่างไม่เกรงกลัว แม้แต่พื้นที่บนเกาะซึ่งมีความลาดชันเกิน 35% เช่น ที่เกาะสมุย ภูเก็ต ก็มีการครอบครองทำรีสอร์ทอย่างครึกโครมอย่างไม่เกรงกลัว สวนทางกับเกษตรกรหลายรายที่ถูกรัฐไล่ออกจากที่เกิดของบรรพบุรุษ เพราะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภายหลัง ซึ่งยังต้องเรียกร้องความยุติธรรมกันต่อไปอย่างไม่เป็นธรรม

**นายทุนย่ามใจ หยามซื้อประเทศไทยแค่หมื่นล้าน
นายสุทธินันท์ จันทระ ประธานคณะทำงานด้านการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล กล่าวเสริมถึงในมิติทางการเมืองว่าก็ยังมีความไม่เท่าเทียมกัน แม้สังคมเป็นประชาธิปไตยแต่ประชาชนมีสิทธิ์เต็มที่เพียงแค่ 4 วินาที ที่กากบาทเลือกตั้ง หลังจากนั้น ปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาชี้จุดเป็นจุดตายกันเอง พัฒนาเฉพาะพื้นที่ที่เป็นฐานเสียง ออกกฎหมายที่เอื้อแต่นายทุน และถอนทุนจากการทุจริตโครงการพัฒนาต่างๆ

จนกลุ่มนายทุนสบประมาทคนไทยกันเองว่า ประเทศไทยซื้อได้ไม่เกินเงินหมื่นล้าน นั่นเป็นเพราะกลุ่มทุนครอบงำทางการเมืองไปแล้ว ผสมโรงกับกลุ่มข้าราชการที่เลื่อนตำแหน่งจากการใช้เงินซื้อ สุดท้ายกรรมต่างๆ ก็ตกที่ประชาชนนั่นเอง แม้แต่กฎหมายเดียวกับก็ยังถูกใช้ 2 มาตรฐานระหว่างคนจนกับคนรวย

“หากพรรคการเมืองหรือรัฐบาลชุดใดหยุดการทุจริตคอร์รัปชันได้แล้ว ประชาชนก็จะค่อยๆ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากงบประมาณที่จะมีการพัฒนาอย่างโปร่งใสเต็มเม็ดเต็มหน่วย” นายสุทธินันท์ กล่าว

**แนะสังคมร่วมสละให้โอกาสผู้ที่ด้อยกว่า
ด้าน นายวิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ สมาชิกคณะทำงานการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และสนับสนุนเครือข่าย เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ไกลเกินกว่าที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ เพราะอาจจะต้องย้อนยุคไปสู่สังคมแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งตนเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมในด้านต่างๆ นั้นมีได้ แต่ต้องเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความชอบธรรม สวนทางกับที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ด้วยโอกาสและความได้เปรียบของกลุ่มคนส่วนน้อยนั้นอิงอยู่กับคนในรัฐบาลที่ใช้นโยบายเอื้อประโยชน์ และกลับมาเอารัดเอาเปรียบประชากรส่วนใหญ่

ทั้งนี้ สืบ นาคะเสถียร เคยกล่าวไว้ว่า ประเทศไทยจะดีขึ้น ถ้าคนที่มีโอกาสยอมสละโอกาสบ้าง เรามาช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีโอกาสให้ลืมตาอ้าปากได้ ผมอยากเห็นสังคมดีขึ้น โดย นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า คนรุ่นใหม่นั้นกลับยอมรับให้มีการทุจริตได้ แต่ก็ต้องพัฒนาประเทศด้วย ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า ต่อไปคงต้องพูดใหม่ว่า ถ้าใครโกงแล้วก็พอแล้ว หลบให้คนอื่นได้โกงบ้างได้ไหม นั่นเป็นเพราะสังคมอ่อนแอด้วยสำนึกในความซื่อสัตย์สุจริตไปเสียแล้ว

**5 จชต.ซัดรัฐทอดทิ้งซ้ำเติมสังคม-ศก.ดิ่งเหว
นายพันธุ์เกียรติ จ่างเจริญ ประธานเครือข่ายสภาฯ จ.ปัตตานี สะท้อนปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า เรื่องความไม่ยุติธรรมเป็นปัญหาที่ขึ้นในสังคมชายแดนใต้มานาน ทั้งที่ยังเป็นคนไทยและมีอยู่บนแผนที่ประเทศไทย แต่ได้รับการปฏิบัติดูแลที่แตกต่างจากคนส่วนกลาง ดังเช่น เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ได้รวดเร็วเหมือนจับกุมมือระเบิดชาวอิหร่าน และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสถานการณ์ความไม่สงบของรัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนความยุติธรรม เช่นเดียวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยก็กระทำเยี่ยงคนร้าย ทั้งที่กฎหมายได้สิทธิคุ้มครองตามสมควร ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตครอบครัวผู้นั้น และกลายเป็นปัญหาสังคมทับถมอีก

นอกจากนี้ นายพันธุ์เกียรติ ยังฝากคำถามชวนคิดด้วยว่า ที่ 3 จังหวัดเป็นเช่นนี้ เพราะมีคนบางกลุ่มไม่อยากให้คลี่คลายด้วยมีผลประโยชน์อื่นแอบแฝงใช่หรือไม่

สอดคล้องกับที่ นายสกล อึ่งสร้อยทอง ประธานเครือข่ายสภาฯ จ.ยะลา ที่กล่าวว่า มีคนเคยตั้งข้อสังเหตุว่า ความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น กลายเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมความมั่นคงไปแล้วหรือ เพราะแต่ละปีจะมีงบประมาณลงมาจำนวนมาก แต่สภาพความเป็นอยู่ และโอกาสต่างๆ กับกระจายไม่ถึง

โดยตนประกอบธุรกิจส่วนตัวที่มีขนาดกลาง แต่ขณะนี้ซิตี้แบงก์ไม่อนุญาตให้ทำบัตรเครดิตเมื่อทราบว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.ยะลา เช่นเดียวกับธนาคารทหารไทย ที่ไม่ยอมปล่อยกู้ผู้ประกอบการเพิ่ม แม้ว่าจะเป็นลูกค้ามานานก็ตาม แม้แต่เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน 1.5% ก็กระจุกอยู่ในธุรกิจที่มีรายใหญ่ มิหนำซ้ำ ขณะนี้รัฐบาลกำลังทอดทิ้งอีก นับประสาอะไรกับชาวบ้านหรือผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องดิ้นรนหาทางรอดเอง เพราะคนที่ได้รับโอกาสแล้วไม่ยอมเสียสละเพื่อให้คนที่ด้อยกว่าได้ลืมตาอ้าปากบ้าง

“ผู้ประกอบการในยะลา เคยคุยและถามออกมาว่า ถ้าแยกการปกครองแล้วเหตุการณ์ต่างๆ สงบลง สิ้นเสียงปืน-ระเบิด และชาวบ้านกลับมาทำมาหากินได้ตามปกติ พวกเราก็จะยอม เพราะหมดหวังกับรัฐบาลแล้วเหมือนกัน ตอนนี้คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ออกมาซื้อบ้านจัดสรรที่หาดใหญ่ตั้งแต่ระดับ 800,000 - 5 ล้าน เป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ วันหยุดก็ออกมาเที่ยว ซื้อของ พักผ่อนแต่ละเดือนเจอกันเหมือนอยู่ใน 3 จังหวัด ผมว่าเงินสะพัดมากกว่า 100 ล้านต่อเดือนเสียด้วยซ้ำ” นายสกนธ์ กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ นายพิทักษ์สิทธิ์ ชีวรัฐพัฒน์ รองประธานหอการค้าจังหวัดสตูล ฝากให้ที่ประชุมนำเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ 5 จังหวัดชายแดนใต้ผลักดันเสนอต่อคณะรัฐมนตรีด้วยว่า อย่าทอดทิ้งคนที่นี่ และจะต้องส่งเสริมด้วยสิทธิพิเศษไม่ให้ละทิ้งถิ่นฐาน เช่น การช่วยเหลือด้านดอกเบี้ยอัตราพิเศษเพื่อจูงใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น