xs
xsm
sm
md
lg

ม.วลัยลักษณ์ เตรียมฉลองสถาปนาครอบ 20 ปี เดินหน้าเข้าสู่เวทีประชาคมอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช เตรียมฉลองสถาปนาครอบ 20 ปี 29 มีนาคม 2555 นี้ พร้อมเตรียมเดินหน้าเข้าสู่เวทีประชาคมอาเซียน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา คณบดีสำนักวิชาศิลปะศาสตร์ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงการเตรียมการฉลองโอกาสครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐและอยู่ในกำกับของรัฐที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” อันเป็นสร้อยพระนามในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2535 มหาวิทยาลัยจึงถือเอาวันที่ 29 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย ซึ่งจะครบรอบปีที่ 20 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ใน พ.ศ.2555 นี้

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา กล่าวต่อว่า ตลอดเกือบ 20 ปี ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) ที่จัดการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยในรูปแบบ Residential University ที่มีระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการแบบครบวงจร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย “บ่มเพาะศึกษิต ผลิตความรู้ เปิดประตูสู่สังคม” พร้อมกับวิสัยทัศน์ที่ว่า “เป็นองค์การธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล”

คณบดีสำนักวิชาศิลปะศาสตร์ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงสำคัญในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสิบประเทศที่เป็นสมาชิก ‘อาเซียน’ หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเข้าสู่การเป็น ‘ประชาคมอาเซียน’ (ASEAN Community) อย่างเต็มตัว โดยมีกฎบัตรอาเซียน เป็นธรรมนูญสูงสุด และมีเสาหลัก 3 ด้านเป็นหลักในการดำเนินงาน ประกอบด้วย เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง เสาหลักด้านเศรษฐกิจ และเสาหลักด้านสังคม-วัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายที่จะสร้าง ‘วิสัยทัศน์เดียว อัตลักษณ์เดียว ประชาคมเดียว’ ภายใต้รูปแบบความร่วมมือภูมิภาค คือ การเปลี่ยนแปลงสำคัญซึ่งรอให้สังคมไทยเข้าเผชิญหน้า

การสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะของคนให้มีทักษะ ความสามารถทางด้านภาษา เทคโนโลยี ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีมาตรฐาน เป็นยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของชาติเพื่อการร่วมประชาคมอาเซียนของไทย ในขณะที่สภาการศึกษาแห่งชาติ ได้แถลงถึงการสำรวจความตระหนักของประชาชนในประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ในเรื่องของการรวมเป็นประชาคมอาเซียนนั้น ปรากฏว่า ประชาชนในประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาวมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนสูงเป็นอันดับ 1 ในขณะที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศริเริ่มและมีการลงนามปฏิญญาอาเซียนนั้น กลับมีความตระหนักรู้ในลำดับที่ 8 ในวาระครบรอบปีที่ 20 ของการสถาปนามหาวิทยาลัย ใน พ.ศ.2555 บทบาทของการสร้างความรู้และเตรียมพร้อมประชาคมให้มีความเข้าใจและพร้อมรับปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นภารกิจที่ต้องกระทำอย่างเพิกเฉยมิได้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สังคม จึงเป็นหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัย อันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

ในการจัดกิจกรรมตลอดปี 2555 โดยมีการแสดงปาฐกถาเดือนละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย และกิจกรรมการจัดการขับร้องประสานเสียงในโอกาสแสดงปาฐกถา และวาระโอกาสที่สำคัญต่างๆ โดยสัญจรไปทั่วเขตภาคใต้ ทั้งนี้ ในบางโครงการจะได้จัดกิจกรรมบูรณาการศิลปะการแสดงละครเร่ และละครเวที เช่น การแสดงคีตนาฏกรรม เรื่อง “กรุงวลัยลักษณ์รัตนาธานี” โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ไทยในบริบทอาเซียน” (จัดในวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2555)

“เราหวังอย่างยิ่งถึงการได้ร่วมเฉลิมฉลองครบปีที่ 20 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะที่เป็น “อุทยานการศึกษาแห่งอาเซียน” ซึ่งได้กำหนดรู้ร่วมกันให้เป็น “เอกลักษณ์” ของมหาวิทยาลัย ร่วมตระหนักและเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในสังคมไทย สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับประชาคมท้องถิ่นที่สำคัญหมาวิทยาลัยเข้าไปร่วมสรรค์สร้าง “พลเมืองอาเซียน” รุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจต่อความสำคัญของอาเซียน เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจการเมือง ซาบซึ้งลุ่มลึกใน “รากร่วมวัฒนธรรมอาเซียน” และมีอุดมการณ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ (Greening ASEAN) ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมานั้นมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีบทบาทด้านการศึกษาที่สูงมากและจะเป็นสถาบันการศึกษาที่โดดเด่นในอาเซียน” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น