สตูล - ผู้ว่าฯสตูล เปิดเกมรุกลุยยาเสพติดนำร่องดึงเยาวชนฉีดภูมิคุ้มกันในโครงการค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเวลา 9 วัน ก่อนเปิดเวทีเสวนาภาคพลเมืองแก้ปัญหาบูรณาการ
วันนี้ (18 ม.ค.) นายสมชาย โยธาทิพย์ นายอำเภอควนกาหลง จ.สตูลนำเยาวชนกลุ่มเสี่ยงยาเสพติดที่สมัครใจ อายุระหว่าง 15 - 18 ปี ในพื้นที่ อ.ควนกาหลง จ.สตูล กว่า 40 คน ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายแก้ไขเรื่องปัญหายาเสพติดและวัยรุ่นทะเลาะวิวาทกัน พร้อมขานรับนโยบายต่อต้านยาเสพติดตามหลักยุทธ์ศาสตร์ 7 แผน 4 ปรับ 3 หลัก 6 เร่งเพื่อขับเคลื่อนดำเนินการแก้ไขยาเสพติด โดยจัดขึ้นที่ห้องประชุม วิทยาลัยเกษตร อ.ควนกาหลง จ.สตูล โดยมีนายพิศาล ทองเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมเปิดงาน
นายสมชาย โยธาทิพย์ นายอำเภอควนกาหลง กล่าวว่า สำหรับการนำเยาวชนมาในครั้งนี้ได้จัดโครงการค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีพระชนมายุ 84 พรรษา และถือว่าได้เป็นส่วนหนึ่งที่นำเยาวชนในท้องที่ซึ่งเป็นเป้าหมายกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่ติดยาเสพติด มาร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด
ณ ปัจจุบันนี้สังคมได้เสื่อมลงทุกวันมาจากปัญหาครอบครัว ตามเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ และสุดท้ายมาจบลงเรื่องของยาเสพติดดังนั้นทางอำเภอเมืองสตูลร่วมกับหลายหน่วยงานเช่นสาธารณสุข ศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด โดยนำเยาวชนมาฝึกอบรมเรียนรู้การปฏิบัติตนให้รู้ว่าไหนผิดไหนถูก และมีกิจกรรมแต่ละฐานที่ให้ความรู้เรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดทุกชนิดโดยทำการฝึกอบรมเป็นเวลา 9 วัน
นายพิศาล ทองเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า สำหรับความหมายของยุทธศาสตร์ 7 แผน 4ปรับ 3 หลัก 6 เร่ง เริ่มจาก 7 แผนประกอบด้วย แผนสร้างพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด แผนแก้ไขปัญหาผู้เสพยาเสพติด รัฐบาลตั้งเป้าลดผู้เสพให้ได้ภายใน 4 ปี สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันยาเสพติด แผนปราบปรามยาเสพติดและบังคับใช้กฎหมาย โดยจะลดผู้ผลิตและผู้ลำเลียงในทุกระดับ โดยบังคับใช้กฎหมายนิติธรรมอย่างเคร่งครัด แผนความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านใช้นโยบายเชิงรุกพัฒนาพื้นที่แนวชายแดน
แผนสกัดกั้นยาเสพติดแนวชายแดนและแผนบริหารจัดการแบบบูรณการ ส่วน 4 ปรับคือ ปรับปรุงข้อมูลการข่าวถูกต้อง ทันสมัย ปรับบทบาทพฤติกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ ปรับกฎหมาย กฎระเบียบและปรับทัศนคติของสังคม ชุมชน ขณะที่ 3 หลัก คือ หลักเมตตาธรรม รักในเพื่อนมนุษย์ นิติธรรม กฎหมายมาใช้อย่างจริงจัง และยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งของการแก้ปัญหา และสุดท้าย 6 เร่ง คือเร่งดำเนินการในด้านข้อมูลปัญหายาเสพติด เร่งลดจำนวนผู้เสพติด เร่งแสวงหาความร่วมมือต่างประเทศและสกัดกั้นยาเสพติด เร่งปราบปรามผู้ค้า ลดความเดือดร้อนประชาชน เร่งแก้ปัญหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงทั้งในและนอกสถานที่ และเร่งสร้างหมู่บ้าน ชุมชนให้เข้มแข็ง และหลังจากนี้จะมีการเชิญผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคพลเมืองมาร่วมเปิดเวทีเสวนาหาแนวทางแก้ปัญหาพร้อมกันแบบบูรณการ รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามควบคู่กันไป