ตรัง - สายการบินโอเรียนท์ไทย ประกาศงดบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-ตรัง เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ 19 ม.ค.นี้ ส่วนสาเหตุยังไม่มีการชี้แจงที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะเป็นเหตุผลทางด้านธุรกิจ และการตลาด
วันนี้ (17 ม.ค.) นายจรัญ ชื่นในธรรม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง-สตูล เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมนี้เป็นต้นไป สายการบินโอเรียนท์ไทย (วันทูโก) จะงดการบินในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-ตรัง เป็นการชั่วคราว หลังจากที่เปิดให้บริการในเส้นทางนี้มาแล้วประมาณ 2 ปี โดยได้ทำการบินทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน คือ เที่ยวบินที่ OX 8281 ออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 07.20 น. ถึงท่าอากาศยานตรัง เวลา 08.40 น. และเที่ยวบินที่ OX 8280 ออกจากท่าอากาศยานตรัง เวลา 09.10 น. ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 10.30 น. ส่วนจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อไหร่ ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด
ทั้งนี้ การงดการบินเป็นการชั่วคราวของสายการบินวันทูโก ไม่มีคำชี้แจงที่ชัดเจนจากทางผู้บริหารว่าเกิดมาจากเหตุผลใด เพียงแต่ทราบข่าวว่าจำเป็นต้องนำเครื่องบินภายในประเทศ ไปเปิดตลาดในประเทศจีน ซึ่งกำลังมีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจอย่างยิ่งในอนาคต ขณะที่การบินในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-ตรัง แม้ที่ผ่านมาจากมีผู้โดยสารในระดับที่น่าพอใจ หรือเต็มลำเกือบทุกเที่ยวบิน แต่ก็ยังอาจจะเป็นการลงทุนที่ไม่ค่อยจะคุ้มค่านักก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันการบินต้นทุนต่ำ (Low-cost Airline) มีการแข่งขันกันสูง ขณะที่แต่ละสายการบินก็มีค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน จนทำให้สายการบินวันทูโก ต้องตัดสินใจดังกล่าว
ประกอบกับนับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมนี้ เป็นต้นมาได้มีสายการบินที่ 3 คือ สายการบินแอร์เอเชีย เข้ามาเปิดบินในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-ตรัง วันละ 1 เที่ยวบินเช้า ในเวลาประมาณ 10.00-11.30 น. ซึ่งอาจจะทำให้สายการบินคู่แข่งกังวลในเรื่องการตลาด โดยเฉพาะมาร์เก็ตแชร์ หรือยอดของตัวเลขผู้โดยสาร แต่ถึงแม้ว่าจังหวัดตรังจะยังคงเหลือ 2 สายการบินเหมือนเดิม คือ สายการบินนกแอร์ กับสายการบินแอร์เอเชีย แต่เชื่อว่าด้วยศักยภาพที่มีอยู่ โดยเฉพาะสายการบินแอร์เอเชียที่จะบินขึ้นลงผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยตรง จะช่วยดึงชาวต่างชาติให้เข้ามาจังหวัดตรังเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการเดินทางที่ง่ายและสะดวก
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เกิดผลกระทบตามมา หากสายการบินวันทูโก งดการบินไปอย่างถาวร ก็คือ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานตรัง ทั้งอาคารผู้โดยสาร และรันเวย์ ที่ได้ผลักดันเรื่องผ่านไปยังกระทรวงคมนามคมแล้ว เนื่องจากตามเงื่อนไขของกรมการบินพาณิชย์ ระบุว่า โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีครบใน 2 องค์ประกอบ ได้แก่ มีผู้โดยสารเดินทางเข้ามาใช้บริการปีละไม่น้อยกว่า 200,000 คน และมีสายการบินมาเปิดให้บริการปีละไม่น้อยกว่า 3 สายการบิน ซึ่งในเรื่องของตัวเลขผู้โดยสารคาดว่าคงสามารถทำได้ แต่เรื่องของสายการบินนั้น คงทำได้ค่อนข้างจะยากแล้ว และอาจทำให้โครงการดังกล่าวต้องล้มพับไปอีกครั้ง