ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิชาการคณะวิทย์ มอ. ห่วงปัญหาคลื่นลมทะเลกำลังแรงกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทย แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งรายละเอียดที่เพียงพอแก่ประชาชน โดยเน้นพื้นที่เสี่ยงและระดับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เพื่อการเตรียมพร้อมรับความรุนแรง
เหตุการณ์คลื่นลมแรงกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยได้สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมชายหาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราชและสงขลา ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งปรากฏการณ์ลานินญา อิทธิพลของคลื่นลมพายุโซนร้อนวาชิ ที่ลดกำลังลดเมื่อปะทะกับความกดอากาศสูงจากประเทศจีนและได้พาลมหนาวเข้ามาในประเทศไทย
นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้กล่าวถึงแนวโน้มการกัดเซาะชายหาดฝั่งอ่าวไทยว่า “ตลอด10-20 ปีที่ผ่านมา ชายฝั่งภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนราธิวาส สงขลา ปัตตานี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชุมพร ประสบกับปัญหาเรื่องการกัดเซาะของคลื่นมาโดยตลอด ด้วยมีปัจจัยหลายด้านทั้งปัจจัยร่วมและปัจจัยธรรมชาติ
ปัจจัยร่วมที่เกิดจากการที่เราไปสร้างสิ่งกีดขวาง เช่น กำแพงหรือเขื่อนกันคลื่น ซึ่งในระยะสั้นสิ่งก่อสร้างเหล่านี้สามารถป้องกันการกัดเซาะของคลื่นได้ แต่อาจจะสร้างปัญหาให้พื้นที่ในอนาคตต่อไปได้ การสร้างสิ่งก่อสร้างดังกล่าวอาจไปขัดขวางการเคลื่อนตัวของทราย แต่ด้วยปีนี้ความแรงของคลื่นจะแรงเป็นพิเศษ เพราะเป็นปีของปรากฏการณ์ลานินญา ซึ่งจะเกิดลมฝนและคลื่นค่อนข้างแรงบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่ต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ได้เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ (น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูง ทะเลนิ่งเงียบเป็นเวลานาน) ผนวกกับปัจจุบันโลกของเรากำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก (Climate change) ซึ่งจะมีความรุนแรงของสภาวะภูมิอากาศของโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งจากเดิมเมื่อ 20 กว่าปีก่อน โลกของเราเผชิญกับยุคโลกร้อน (global warming) และสถานการณ์ต่อไปในอนาคตที่เราจะเจอ คือ Global change ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ”
โดยผลกระทบของการกัดเซาะของคลื่น จะทำให้ชายหาดที่มีอยู่หายไปจากการถูกกัดเซาะ หลังจากนั้นพื้นดินตลอดชายฝั่งจะเจอปัญหาการกัดเซาะดินตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชายฝั่งที่เป็นแนวยาว บางพื้นที่ชายฝั่งเกิดการกัดเซาะประมาณ 20-30 เมตร แต่ในบางพื้นที่ที่รุนแรงเกิดการกัดเซาะถึง 100-300 เมตรจากแนวเดิมที่เคยเป็นพื้นดิน
นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง กล่าวถึงแนวทางในการลดความสูญเสียที่เกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ในส่วนของปัจจัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ยาก ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะสามารถทำได้ คือการเตือนให้ประชาชนให้รับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น หรือออกกฎหมายให้คนที่จะสร้างบ้านเรือนริมชายฝั่งจะต้องเว้นระยะห่างที่เหมาะสมกับชายฝั่ง โดยจะต้องการมีศึกษาในเรื่องพื้นที่อย่างจริงจัง เพราะระดับความรุนแรงที่จะเกิดจะขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละพื้นที่ด้วย
“ควรจะให้มีแนวพันธุ์ไม้ป่าชายหาดเพื่อลดแรงของคลื่นลม ในบางฤดูก็จะต้องยอมให้มีการกัดเซาะตามธรรมชาติบ้าง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงคลื่นลมสงบธรรมชาติจะปรับสมดุลตัวเอง ชายหาดก็จะกลับมามีเหมือนเดิม แต่ถ้าเราไปสร้างสิ่งก่อสร้างกั้นแนวคลื่น หาดทรายจะไม่กลับมา แรงปะทะตรงๆ ของคลื่นจะทำให้ดึงทรายลงไปในทะเล ซึ่งจะสร้างความเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม” นายศักดิ์อนันต์กล่าว
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แนวโน้มปรากฏการณ์ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีภูมิอากาศเป็นตัวกำหนดความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของคลื่นลม การทำนายสภาพอากาศจะทำได้ยากขึ้น ซึ่งจะสามารถทำนายล่วงหน้าได้เพียงไม่กี่วันเพราะเหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ ระบบการเตือนภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีข้อมูลรายละเอียดที่เพียงพอในการแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเน้นพื้นที่เสี่ยงและระดับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เพื่อการเตรียมพร้อมรับความรุนแรงและลดการสูญเสียในแต่ละระดับต่อไป