xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่าทุ่ม 150 ล้านเพิ่ม-ซ่อมเขื่อนหินทิ้งสงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรมเจ้าท่าเตรียมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายเขื่อนหินทิ้งบ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา ไปจนถึงที่บ้านปึก หมู่ 10 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา หลังพบถูกคลื่นซัดพังเสียหายหลายเขื่อน ตั้งงบ 150 ล้านบาทซ่อมเขื่อนที่ชำรุดจากการถูกคลื่นซัดช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และสร้างต่อเติมเขื่อนหินทิ้งบ้านบ่ออิฐเพิ่มเติมพร้อมกันไปด้วย

วันนี้ (13 ธ.ค.) นายณัฐชัย พลกล้า ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 จังหวัดสงขลา และฝ่ายช่างสำรวจได้ร่วมวางแผนในการเตรียมออกทำการสำรวจตรวจสอบความเสียหายของเขื่อนหินทิ้งบ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ไปจนถึงที่บ้านปึก หมู่ 10 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา หลังพบว่า ช่วงฤดูมรสุมปีนี้ มีคลื่นแรงจัดเขื่อนหลายเขื่อนถูกคลื่นซัดพังเสียหาย มีทั้งพังเสียหายบางส่วนและพังเสียหายทั้งเขื่อน

สำหรับเขื่อนหินทิ้ง บ้านบ่ออิฐ จำนวน 14 เขื่อน ระยะทาง 5 กิโลเมตร งบประมาณ 225 ล้านบาท ตัวเขื่อนแต่ละเขื่อน มีความยาว 200 เมตร สันเขื่อนกว้าง 5 เมตร มีระยะห่างระหว่างตัวเขื่อน 150 เมตร โดยก่อสร้างจากชายฝั่งบริเวณบ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ไปจนถึงที่บ้านปึก หมู่ 10 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากบริเวณนี้ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งที่มีความรุนแรงมากในพื้นที่ของจังหวัดสงขลา

นายณัฐชัย พลกล้า ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณบ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ไปจนถึงที่บ้านปึก หมู่ 10 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เขื่อนหินทิ้งป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในช่วงฤดูมรสุมสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือปีนี้ คลื่นลมมีกำลังแรงซัดกระหน่ำตัวเขื่อนจนพังเสียหายหลายเขื่อน มีทั้งพังเสียหายบางส่วนและพังเสียหายทั้งเขื่อน

ทางกรมเจ้าท่า ได้ขอตั้งงบไว้ 150 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 เพื่อทำการซ่อมเขื่อนที่ชำรุดจากการถูกคลื่นลมมีกำลังแรงซัดกระหน่ำและสร้างเพิ่มเติมพร้อมกันไปด้วย ซึ่งได้ทำการศึกษาออกแบบโครงสร้างของเขื่อนหินทิ้งบ้านบ่ออิฐเพื่อลดช่องว่างระหว่างเขื่อนที่ก่อสร้างไว้เดิมให้น้อยลง จากเดิม 150 เมตร ให้เหลือประมาณ 80-90 เมตร และเพิ่มโครงสร้างในระหว่างช่องว่างเพื่อปิดไม่ให้น้ำทะเลเข้ามามากเหมือนที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น