xs
xsm
sm
md
lg

“จากชักพระ ผ่านฮารีรายอ ถึงลอยกระทง” อัตลักษณ์ที่สวยงามอย่างลงตัวใน จ.ยะลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - ความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธ, ชาวไทยมุสลิม, ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยเชื้อสายมลายู ใน จ.ยะลา ส่งผลให้เทศกาลงานประเพณีต่างๆ เป็นไปอย่างสมานฉันท์และคึกคักตลอดทั้งปี แม้จะเป็นงานรื่นเริงท่ามกลางการคุมเข้มรักษาความปลอดภัยก็ตาม

จังหวัดยะลา เป็นเมืองเล็กๆ 1 ใน 3 ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยพุทธ, ชาวไทยมุสลิม, ชาวไทยเชื้อสายจีน, ชาวไทยเชื้อสายมลายู หรือแม้แต่เผ่าซาไกหนึ่งเดียวของ อ.ธารโต ให้อยู่ร่วมกันท่ามกลางอัตลักษณ์ที่แตกต่างได้อย่างลงตัว แม้ว่าในพื้นที่จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น และมีผู้ไม่หวังดีพยายามใช้อัตลักษณ์เฉพาะตัวที่สวยงามนี้บังหน้าก่อเหตุร้าย สร้างความแตกแยก และบิดเบือนคำสอนของศาสนาอยู่บ่อยครั้ง

กระนั้นเทศกาลงานประเพณีรื่นเริงต่างๆ ของผู้คนในจังหวัดยะลาก็ยังดำเนินไปตามปกติเช่นเดิม โดยนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา มีเทศกาลออกพรรษา ซึ่งชาวพุทธในพื้นที่ภาคใต้ล้วนจัดประเพณี “ลากพระ” หรือ “ชักพระ” ขึ้น พี่น้องชาวไทยพุทธใน จ.ยะลา ก็เช่นเดียวกัน แม้จะเป็นการแห่เรือพระท่ามกลางการคุมเข้มรักษาความปลอดภัยของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ก็ตาม

ผ่านประเพณีงานชักพระของชาวพุทธ ก็เป็นประเพณีออกพรรษา โดยพี่น้องชาวพุทธต่างแต่งตัวสวยงามมาร่วมทำบุญทอดกฐินตามวัดวาอารามต่างๆ อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาของการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ของเหล่าพุทธศาสนิกชน

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนนี้ พี่น้องชาวไทยมุสลิมก็ทำบุญอันยิ่งใหญ่ด้วยการ “กุรบาน” หรือเชือดสัตว์เพื่อเป็นพลีทานเนื่องในวันตรุษอีฎิ้ลอัฎฮา หรือ “รายอฮัจยี” ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งความสุขที่ชาวมุสลิมรอคอยให้มาถึง เพราะพี่น้อง ลูกหลาน หรือญาติที่ไปทำงานยังต่างจังหวัด หรือแม้กระทั่งต่างประเทศ จะเดินทางกลับมาเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องที่บ้าน โดยทุกคนจะพากันแต่งตัวสวยงามเพื่อไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิด ก่อนจะทำอาหารเลี้ยงกันที่บ้าน ชวนเพื่อนและญาติสนิทมาร่วมสังสรรค์ด้วยกัน มีแต่เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และความเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันและกัน

และที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปไม่นาน คือวันลอยกระทง เทศกาลแห่งความสุขของพี่น้องชาวไทยพุทธอีกงานหนึ่งในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีกิจกรรมแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือการประดิษฐ์กระทง โดยนำวัสดุต่างๆ ทั้งหยวกกล้วย ใบตอง หรือกาบพลับพึง เปลือกมะพร้าว ฯลฯ มาประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องสักการบูชา ให้เป็นกระทงที่สวยงาม แต่บางพื้นที่ก็มีการดัดแปลงวัสดุทำกระทงให้หลากหลายขึ้น เช่น กระทงขนมปัง กระทงกระดาษ กระทงพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อให้ย่อยสลายง่ายและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

และที่ จ.ยะลา เทศกาลแห่งความสุขความสวยงามใน วันลอยกระทงนี้ ก็ไม่ยิ่งหย่อนหรือน้อยกว่าที่ใดในประเทศไทยเลย โดยยังมีการลอยกระทง การประกวดกระทง ตลอดจนการประกวดหนูน้อยและนางนพมาศ ตามปกติ ทั้งนี้ สิ่งที่ได้เห็นคู่กับความสุขสนุกสนานก็คือ ความห่วงใยจากทุกภาคส่วน ทั้งจากทหาร ตำรวจ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนชาวยะลาทุกคนที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังภัย

โดยหากสังเกตสิ่งผิดปกติ วัตถุ ยานพาหนะต้องสงสัย บุคคลต้องสงสัย ที่จะก่อเหตุสร้างสถานการณ์ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1341 หรือ 1881 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรักษาอัตลักษณ์อันสวยงามน่าจดจำทุกเทศกาล ทุกประเพณีของคนไทยทุกศาสนาในผืนแผ่นดินไทยให้ดำรงอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนลงท่ามกลางความสมานฉันท์เช่นนี้สืบไป











กำลังโหลดความคิดเห็น