ยะลา - หลังอุตุฯเตือนฝนจะตกหนักในหลายจังหวัดภาคใต้ โดยให้ระวังเหตุดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลัน ขณะนี้ที่ จ.ยะลา เริ่มมีฝนตกหนักในพื้นที่ แต่ทุกฝ่ายยันเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประสบภัยไว้แล้ว
หลังจากที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) เตือนให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในช่วงนี้ไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งจะมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, สงขลา และบางส่วนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวัง และติดตามข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อย่างใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ยะลา ว่า วันนี้ (21 ต.ค.) ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง หากเกิดฝนตกในลักษณะอย่างนี้ติดต่อกันหลายวันอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มปิดเส้นทางคมนามคมในพื้นที่เสี่ยงภัยได้
สำหรับ จ.ยะลา มีพื้นที่ 4,521 ตร.กม.หรือประมาณ 2.8 ล้านไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาตั้งแต่ตอนกลางของจังหวัดถึงใต้สุด มีพื้นที่ราบบริเวณ อ.เมือง และ อ.รามัน อยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานี ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ มีแม่น้ำสายหลักที่สำคัญ คือ แม่น้ำปัตตานีไหลจาก อ.เบตง จ.ยะลา ไปลงอ่าวไทย ที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี ความยาว 210 กม.และ แม่น้ำสายบุรี ไหลผ่าน อ.รามัน จ.ยะลา
สภาพการเกิดอุทกภัยของ จ.ยะลา แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ อุทกภัยที่เกิดบริเวณลุ่มน้ำตอนบนและลำน้ำสาขาต่างๆ ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ประกอบด้วย อ.ธารโต อ.เบตง อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา มีลักษณะการเกิดอุทกภัยเกิดจากการที่มีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก คลองธรรมชาติระบายน้ำไม่ทัน น้ำจะท่วมเร็วและแห้งเร็วในเวลา 1-3 วันเท่านั้น และอุทกภัยที่เกิดในพื้นที่ราบลุ่มบริเวณ อ.เมือง และ อ.รามัน ลักษณะเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำปัตตานี และริมแม่น้ำสายบุรี ลักษณะการท่วมเป็นน้ำท่วมขังบ่าเต็มพื้นที่เนื่องจากคลองสายหลักตื้นเขินมีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ ปริมาณการไหลของน้ำจะมาเร็ว ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลา 3-5 วัน
ซึ่งแบ่งพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากออกเป็นพื้นที่ใหญ่ๆ ได้ 5 กลุ่มคือ พื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนและลำน้ำสาขาต่างๆ ได้แก่ อ.ธารโต อ.เบตง อ.ยะหา อ.บันนังสตา ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่สูงต้นน้ำ ลักษณะการท่วมเป็น ต.ท่าสาป ต.สะเตงนอก เป็นลักษณะน้ำท่วมขัง เนื่องจากแม่น้ำปัตตานี และคลองสาขาระบายน้ำไม่ทันและไหลบ่าท่วมเต็มพื้นที่
พื้นที่ อ.รามัน ลักษณะการท่วมเป็นน้ำท่วมขัง บริเวณริมแม่น้ำสายบุรี ต.ท่าธง ต.อาซ่อง ต.กายูบอเกาะ ต.จะกว๊ะ ต.ตะโละหะลอ และ ต.วังพญา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำ และน้ำไหลล้นตลิ่งแม่น้ำสายบุรี จึงไม่สามารถระบายน้ำจากพรุน้ำดำ ซึ่งเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ลงสู่ แม่น้ำสายบุรี ได้ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี
พื้นที่เทศบาล ต.เบตง เป็นลักษณะน้ำป่าไหลหลากเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจตามคลองเบตง และ ระบายได้ช้า เพราะมีบ้านเรือน อาคารพาณิชย์ และ สิ่งก่อสร้างอื่นกีดขวางทางน้ำอยู่ตลอดแนว พื้นที่ ต.ธารโต อ.ธารโต เนื่องจากน้ำจากลุ่มน้ำจากลุ่มน้ำย่อยคลองปูยุด พื้นที่รับน้ำประมาณ 25 ตารางกิโลเมตร ไหลลอดถ้ำปูยุด ความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ระบายน้ำไม่สะดวกโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี
สำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณถนนสายท่าสาป-ดอนยาง บ้านสาคอ หมู่ที่ 4 ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา ทางสำนักคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ (กปร.) ได้ร่วมกับกรมชลประทาน ตรวจสอบพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม และ ได้ประสานหน่วยงานชลประทานในพื้นที่ จ.ยะลา ให้ดำเนินการในการขุดลอกคลอง 3 จุด คือ คลองสาคอ ความยาว 1.900 กิโลเมตร คลองลำดา ความยาว 8.100 กม. และ คลองตาสา ความยาว 4.300 กม. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า ในเรื่องของการป้องกันอุทกภัยในเขตเทศบาลนครยะลา ที่ผ่านมา นายกฤษฏา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เชิญหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาประชุมในเรื่องการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ ในส่วนของเทศบาลนครยะลา มีการแบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 เป็นการป้องกัน คือการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครยะลา ในส่วนที่ 2 คือ จะทำอย่างไรให้ทางน้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น สำหรับการป้องกันน้ำไม่ให้เข้าเมือง ในจุดเดิมที่มีปัญหา บริเวณหลังวิทยาลัยอาชีวะยะลา ทางเทศบาล ได้มีการก่อสร้างขันกั้นน้ำแบบหินคลุกที่มีมาตรฐาน มีการเตรียมความพร้อมประมาณ 2 เดือน ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จ ในความยาวประมาณ 500 เมตร ความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร จะสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น
ในส่วนของประตูน้ำต่างๆ ตั้งแต่เกิดอุทกภัยเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา ทางเทศบาลได้เชิญวิศวกรจากชลประทาน จ.ยะลามาร่วมกับคณะทำงานของทางเทศบาลในการปรับปรุงประตูน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาเกือบทุกปีจะมีปัญหา ซึ่งในขณะนี้ประตูน้ำทั้งหมดทางเทศบาลนครยะลา ได้ทำการซ่อมแซมทั้งหมดแล้ว ประการที่สำคัญ คือ ทำให้น้ำไหลได้สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะให้ไหลออกจากเมืองก็ดี การระบายน้ำก็ดี ในส่วนของแม่น้ำปัตตานีก็มีการขุดลอกสันดรต่างๆ ในเรื่องของการขวางทางน้ำซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ในเขตเทศบาลนครยะลา โดยเฉพาะในย่านชุมชนตลาดเก่า ไปจนถึง บริเวณบ้านท่าสาป ได้มีการขุดลอกเรียบร้อยแล้ว
ส่วนที่อยู่นอกเขตเทศบาลนครยะลา ได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา หรือ อบจ.มาช่วยดำเนินการขุดลอกในเขตเทศบาลตำบลสะเตงนอก และ ส่วนหนึ่งมีการขุดลอกเส้นทางน้ำ และ ผันน้ำที่มาจากพื้นที่ ต.โกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา พื้นที่ ต.บุดี อ.เมืองยะลา ให้ออกไปทางบ้านปรามะ ต.วังพญา อ.รามัน เพื่อลงสู่แม่น้ำสายบุรี เพื่อที่จะลดไม่ให้น้ำไหลเข้ามาร่วมในเขตเทศบาลนครยะลา ด้านการให้การช่วยเหลือประชาชนหากเกิดน้ำท่วม ทางเทศบาลนครยะลา มีการเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องปั่นไฟ และ เรือท้องแบน รองรับไว้แล้ว