xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยตำนานประเพณีชักพระฯ สุราษฎร์ธานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี...

เมื่อถึงวันออกพรรษาจะมีงานบุญที่สำคัญและยิ่งใหญ่ คือ งานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งได้อนุรักษ์สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษหลายร้อยปี จนนับได้ว่าเป็นมรดกแห่งศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของจังหวัดโดยเฉพาะ

ชักพระ หมายถึงการชักหรือลากพระ โดยทางวัดจะถือเอาวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 อัญเชิญพระพุทธรูปให้พุทธศาสนิกชนชักลากแห่ไปบำเพ็ญกุศล และสมโภชเพื่อความเป็นสิริมงคล เรียกว่า ชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ

เป็นการจำลองเหตุการณ์ตามเรื่องราวใน เทโวโรหนสูตร กล่าวไว้ว่า ประเพณีแห่พระหรือชักพระสืบเนื่องมาแต่ครั้งสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ครั้นถึงวันออกพรรษา จึงทรงเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ภิภพสู่โลกมนุษย์ โดยมีบันไดทิพย์ ทั้ง 3 ได้แก่ 1.บันไดทอง อยู่ทางขวามือ เป็นที่ลงแห่งฝูงเทพยดาที่ตามเสด็จ 2.บันไดเงิน อยู่ทางซ้ายมือ เป็นที่ลงแห่งหมู่พรหม 3.บันไดแก้ว อยู่ท่ามกลาง เป็นทางเสด็จของพระพุทธเจ้า

เมื่อพุทธศาสนิกชนทราบข่าวต่างยินดี ชวนกันเฝ้ารอตักบาตรรับเสด็จอย่างคับคั่ง จนเกิดประเพณี ตักบาตรเทโวขึ้น ควบคู่กับประเพณีชักพระประเพณีชักพระฯ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-17 ตุลาคม ที่ผ่านมานั้น ทำกันทั้งทางบก-ทางน้ำ และก่อนถึงวันออกพรรษา แต่ละปี วัดและชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ช่วยกันจัดเตรียม รถ เรือ ประดับประดาตกแต่งสวยงาม แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบก (นมพระ) บนเรือพระ รถพระ เมื่อถึงวันออกพรรษาแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรอาหารคาวหวาน ซึ่งต้องมีขนมชนิดหนึ่ง เรียกว่าขนมต้ม ต่อจากนั้นจะเริ่มชักเรือพระ-รถพระ ออกจากวัดไปสมโภช พร้อมกับตีกลองโพนไปตลอดทาง เพื่อประกาศให้รู้ว่ามีการชักพระแล้ว

การทอดผ้าป่าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองหรือบ้านดอน จะแตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่น คือ การทอดผ้าป่าหน้าบ้าน ทำติดต่อกันมานานจนกระทั่งสมัยที่ขุนโชคชัยการเป็นกำนันตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี มีการทอดผ้าป่าในวันลากพระน้ำ เป็นที่สนุกสนาน แต่ก็เลิกรากันไป

ในปี พ.ศ. 2467 นางพยอม สารสิน ได้ชักชวนให้มีการทอดผ้าป่าหน้าบ้านขึ้นมาอีก ทำอยู่หลายปี จนกระทั่งชราภาพ เทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีรับเป็นผู้จัด ครั้นปี พ.ศ. 2530 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เห็นว่า งานชักพระ-ทอดผ้าป่า เป็นงานใหญ่ ชาวต่างเมืองสนใจ จึงรับเข้าเป็นงานประจำของจังหวัด จวบจนถึงปัจจุบัน

จากการที่มีการจัดพุ่มผ้าป่ามากมาย กองศาสนพิธี จัดสลากเรียงเลขเป็น 2 ชุด ชุดแรกแจกเจ้าของพุ่มผ้าป่าอีกชุดหนึ่ง มีเลขพุ่มผ้าป่า และชื่อเจ้าของพุ่ม จัดไปถวายตามวัดต่าง ๆ เท่าจำนวนพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตั้งแต่หัวค่ำเป็นต้นไป อาคารบ้านเรือนและร้านค้าจะจัดพุ่มผ้าป่าประดับประดาด้วยไฟหลากสีสวยงาม และตกแต่งเป็นเรื่องราวพุทธชาดก เกี่ยวกับนรกสวรรค์ มีภาพเขียน ภาพปั้น บางพุ่มจะมีคนรวมกันหลาย ๆ คน ร่วมกันจัดเป็นพุ่ม ๆ

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการจัดพุ่มผ้าป่า คือ ผ้า 1 ผืน ห้อยไว้บนพุ่มไม้ สำหรับภิกษุชักเป็นผ้าบังสุกุล และปิ่นโต 1 เถา พร้อมอาหาร เพราะในวันนั้นพระจะไม่ออกบิณฑบาตตามปกติ เหตุนี้จึงเรียกพุ่มผ่าป่า ในวันนี้ว่า “ผ้าป่าข้าวสุก” นอกจากนั้นยังมีของอื่นๆ เช่น ร่ม ไฟฉาย พัด ฯลฯ รวมทั้งปัจจัย แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าของพุ่มนั้นๆ

การแข่งขันเรือยาว ซึ่งมีควบคู่กับงานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า สร้างความสนุกสนานและสีสรรค์บรรยากาศในลำน้ำตาปี อีกทั้งการแข่งขัน เรือพาย และการประกวดเรือแต่ง จากประเพณีการแข่งขันเรือยาวในแม่น้ำตาปี เป็นจุดกำเนิดเรือยาวที่มีชื่อเสียง ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คือ เรือเจ้าแม่ตาปี และเรือเจ้าแม่ธารทิพย์

ส่วนการจัดงานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า มีการจัดขบวนแห่พระทางบก แห่พระทางน้ำ การจัดพุ่มผ้าป่าทั่วเมืองจัดเป็นภาพพุทธชาดกมีแห่งเดียวในประเทศไทย การประกวดพุ่มผ้าป่า จัดถนนพุ่มผ้าป่า ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระสงฆ์จะชักพุ่มผ้าป่าพร้อมกันทั่วเมือง มีการแห่พระทางบก แห่พระทางน้ำ ประกวดรถ-เรือพนมพระ และกิจกรรมส่งเสริมประเพณีอีกมากมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น