ตรัง - แนะนำพุทธศาสนิกชนแวะนมัสการ "หลวงพ่อยอด" ขนภูเขาขนาดใหญ่ ปัจจุบันพัฒนาเป็น "ศูนย์ปฎิบัติธรรมภูเขาพระยอด" โดยมีประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งในจังหวัดตรัง จากต่างจังหวัด หรือจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย จีน ไต้ไต้หวัน เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง
"อำเภอห้วยยอด" จังหวัดตรัง นอกจากจะมีแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมายแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้คนไม่พลาดโอกาสเมื่อคราวได้ไปเยือนก็คือ การเดินทางไปกราบนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ บน "เขาพระยอด" ภูเขาขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หลายร้อยไร่ ของหมู่ที่ 3 บ้านควนหนังขำ ตำบลห้วยยอด
โดยสภาพทั่วไปของภูเขาแห่งนี้ รายล้อมไปด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง และต่อมาได้มีพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ร่วมกันสร้าง "หลวงพ่อยอด" บนยอดเขา เมื่อปี 2539 โดยเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย เนื้อโลหะทองเหลือง หน้าตักกว้าง 50 นิ้ว และสูงประมาณ 2 เมตร แต่น้อยคนนักที่จะรับรู้และมีโอกาสเดินทางขึ้นไปกราบนมัสการ จนกระทั่งเมื่อประมาณต้นปี 2543 คณะพทุธบริษัท นำโดย "นายสมนึก ก่อสกุล" และ "อาจารย์พิชิต เอ้งฉ้วน" ได้ชักชวนครอบครัวขึ้นไปสวดมนต์บนภูเขาแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทั้ง 2 ครอบครัว กำลังสวดมนต์ธรรมะฆราวาสบ้าน ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น เพราะทั้งที่แดดร้อนจ้า แต่จู่ๆ ก็เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก หลังจากนั้น ทั้ง 2 ครอบครัว จึงได้ปรึกษาหารือกันและเห็นว่า ขณะนั้น "หลวงพ่อยอด" ประดิษฐานอยู่บนโขดหินกลางแจ้ง ควรสร้างมณฑปเพื่อปกป้องไม่ให้โดนแดดโดนฝน จึงเป็นที่มาของการก่อสร้าง "เจดีย์บัวเงินบัวทองภูเขาพระยอด" ขึ้น เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2543
ทั้งนี้ นอกจาก "นายสมนึก" และ "อาจารย์พิชิต" จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดำเนินการแล้ว ยังชักชวน "คุณแม่เจิ้น อิ เจิน" (Jern Ie Jern) ชาวมาเลเซีย มาร่วมในการก่อสร้างด้วย ปรากฎว่า ต่อมาได้มีชาวไทยและชาวมาเลเซียที่ทราบข่าวจำนวนมากเกิดความศรัทธา ต่างร่วมแรงร่วมใจกันทำบุญถวายสังฆทานเพื่อสมทบทุน ดังนั้น เพียงแค่ 6 เดือน องค์เจดีย์ก็เสร็จสิ้นลง และมีการฉลองขึ้นเมื่อวันที่ 19-25 มกราคม 2544
หลังจากนั้น ก็ได้มีการก่อสร้างซุ้มประตูทางเข้า และศาสนสถานในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช" เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ตามหนังสือถวายแผ่นดินที่ รล 0003/9358 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544 เพื่อเป็นสถานที่ที่ให้ประชาชนได้เรียนรู้การรักษา เทิดทูน ปฎิบัติ ต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่สูงสุด
สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบริเวณ "เขาพระยอด" มีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นศาลเทพศักดิ์สิทธิ์รวม ศาลประภูมิศักดิ์สิทธิ์รวม ฐานไตรมงคล พระพุทธบาทจำลอง หรือวิหาร ซึ่งใช้ประดิษฐานพระเกจิอาจารย์สำคัญทั่วประเทศ รวมทั้งห้องเก็บวัตถุมงคล และสมบัติมีค่าของแผ่นดิน แต่ที่เห็นจะสำคัญที่สุดและตั้งเด่นสง่ายอยู่บนจุดสูงสุด ก็คือ "เจดีย์บัวทองภูเขาพระยอด"
เจดีย์องค์นี้มีฐานล่างเป็นทรงกลมธรรมจักรธรรมชาติแนวนอน และมีเจดีย์น้อย 8 องค์ ประจำเสารอบนอก 12 ต้น ประจำราศีนักษัตรจัดเป็นเสา 4 ชุด ดิน น้ำ ลม ไฟ ทรงกลางแปดเหลี่ยม ควบคุมทิศทั้ง 8 ประกอบด้วย พญานาค 5 ตน และประดับด้วยเหรียญกษาปณ์ทองตลอดทั้งองค์ ส่วนภายในบรรจุของสำคัญมากมาย เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ พระธาตุเหล็กไหล เบี้ยไทยพดด้วงรัชกาลที่ 3 รวมถึงเงินตราสกุลต่างๆ จำนวนประมาณค่ามิได้ แล้วปิดประตูองค์เจดีย์ถาวรด้วยมังกรแก้ว 16 ตัว
ใกล้ๆ กัน จะเป็น "เจดีย์บัวเงินภูเขาพระยอด" ภายในบรรจุพระอัฐิธาตุจำลองของ "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" (ประจำ อ.ห้วยยอด) ส่วนด้านบนประดิษฐานพลับพลาที่ประทับของบูรพกษัตราธิราช นอกจากนั้น ยังมีการสร้างแผ่นศิลาจารึก พระราชกรณียกิจพอสังเขปด้วย สำหรับฐานล่างองค์เจดีย์ จะเป็นทรงเรือ เสมือนทรงเรือประพาสป่า เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร ขณะที่บริเวณด้านล่างสุด จะมีพระพุทธรูปประจำองค์เจดีย์ และเป็นสถานที่ฝึกเรียนสวดมนต์ หรือจุดเดินธาตุรักษาสุขภาพด้วยตัวเอง
ถัดออกไปจะเป็นเจดีย์ 52 ฐาน ที่เสมือนห้องพระที่ใหญ่ที่สุดในแผ่นดินสยาม เพื่อประดิษฐานองค์พระประจำวัน เดือน เกิด และยังมีมณฑปประจำฐานเจดีย์ 215 มณฑป เพื่อชมเรื่องราวพระพุทธศาสนา และภาพวรรณคดี รวมทั้งศึกษาวิชาไปวัด บทสวดมนต์ การเจริญธาตุ และรักษาสุขภาพด้วยตัวเอง ท่ามกลางความร่มรื่นของพืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และมุมสูงของยอดเขาที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ตัวอำเภอห้วยยอดได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ยังได้มีการสร้างแท่นสมาธิ 108 แท่น สำหรับปฏิบัติธรรม ทำบุญ หรือพักผ่อนตามอัธยาศัย เรียงรายรอบเจดีย์ ในสวนกาญจนาภิเษก พร้อมกับทางเดินปฏิบัติธรรมรอบฐานเจดีย์ ทั้งแนวรอบฐานธรรมจักร (แนวนอน) และแนวด้านธรรมจักร (แนวตั้ง) นอกจากนั้น ยังมีการสร้างกุฎิขึ้นเรียงรายรอบสระน้ำ บริเวณด้านล่างขององค์เจดีย์ สำหรับการฝึกปฏิบัติธรรมของพุทธบริษัท รวมถึงนักเรียน นักศึกษา เป็นหมู่คณะ
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาบริเวณดังกล่าวเป็น "ศูนย์ปฎิบัติธรรมภูเขาพระยอด" โดยมีพระภิกษุสงฆ์มาจำวัดเพื่อปฎิบัติธรรมอยู่เป็นประจำ ครั้งละ 1-3 รูป อันเนื่องมาจากบรรยากาศที่เงียบสงบเยือกเย็นเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งในจังหวัดตรัง จากต่างจังหวัด หรือจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย จีน ไต้ไต้หวัน เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา