ศูนย์ข่าวภูเก็ต - คณะอนุกรรมการอัตราค่าแรงขั้นต่ำจังหวัดภูเก็ต เห็นพ้องปรับค่าแรงเพิ่มจาก 210 บาทเป็น 300 บาท ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและเงินเฟ้อ เสนอส่วนกลางพิจารณาบังคับใช้ 1 ม.ค.ปีหน้า ขณะที่ลูกจ้างวอนรัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้พุ่งกว่านี้ ด้านนายจ้างขอความชัดเจนมาตรการช่วยเหลือลดต้นทุนด้านอื่นๆ
วันนี้ (27 ก.ย.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 3/2554 โดยมีนายสุทธิพงศ์ สายสาคเรศ แรงงานจังหวัดภูเก็ต นายอภิชัย อมรพิสุทธิ์ อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนฝ่ายนายจ้างและตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง เข้าร่วมหารือ เพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำจังหวัดภูเก็ตเป็นวันละ 300 บาท จากที่ขณะนี้อยู่ที่วันละ 221 บาท
นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต ในฐานะตัวแทนลูกจ้าง เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะอนุกรรมการอัตราค่าแรงขั้นต่ำจังหวัดภูเก็ต ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายหน่วยงานราชการ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ได้หารือกันอย่างกว้างขวางในการประชุมครั้งนี้ เพื่อปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดภูเก็ตตามที่ฝ่ายลูกจ้างเสนอเป็นวันละ 300 บาท จากที่ใช้อยู่ในขณะนี้วันละ 221 บาท ปรับเพิ่มขึ้นอีกวันละ 79 บาท
ทั้งนี้ แต่ละฝ่ายมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยฝ่ายลูกจ้างเห็นว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 300 บาทนั้น เพื่อให้เป็นไปตามภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะสินค้าต่างๆ ที่ผู้ใช้แรงงานต้องกินและต้องใช้นั้นมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราค่าแรงที่ได้รับอยู่ในขณะนี้ถือว่าไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่นายจ้างเองก็เกรงว่าการปรับค่าแรงขึ้นนั้นจะทำให้ต้นทุนของนายจ้างเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย ด้านนายจ้างต้องการที่จะให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือนายจ้างให้ชัดเจน เช่น มาตรการลดภาษีที่รัฐบาลนำเสนอยู่ในขณะนี้ เพื่อลดต้นทุนด้านอื่นๆของนายจ้างต่อไป
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ก็มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท เสนอไปยังคณะกรรมการในส่วนกลางพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ว่าเป็นชอบตามที่จังหวัดภูเก็ตเสนอหรือไม่ หากเห็นชอบก็จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 เป็นต้นไป
“การขอปรับค่าแรงขั้นต่ำของภูเก็ตเป็น 300 บาทนั้น เพื่อความเหมาะสมเท่านั้น ไม่ได้ทำตามนโยบายรัฐบาล เพราะผู้ใช้แรงงานจังหวัดภูเก็ตไม่ได้อิงนโยบายของรัฐบาล เราขอปรับตามภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น”
นายวิจิตรกล่าวอีกว่า สำหรับลูกจ้างแล้ว สิ่งสำคัญอยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงจนเกินไป โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลูกจ้างให้ในชีวิตประจำวันนั้นสำคัญกับลูกจ้ามากกว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มมากขึ้นเท่าใดก็ตามจะไม่ส่งผลดีต่อลูกจ้างหากราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงตามไปด้วย