สตูล - ภาครัฐเร่งชี้แจงโครงการก่อสร้างขุดเจาะอุโมงค์สตูล-เปอร์ลิส สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ขณะเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลไม่เห็นด้วย แนะพัฒนาศักยภาพด่านวังประจันแทน เพราะเป็นพื้นที่มีประชาชน และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซีย ผ่านเข้าออกคึกคักอยู่แล้ว
วันนี้ (22 ก.ย.) คร.ประพันธ์เผ่า อวกุล ผู้จัดการโครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้าน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมทางหลวงระหว่างจังหวัดสตูลและรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ของกรมทางหลวง วิศวกรชำนาญการพิเศษ จัดปฐมนิเทศศึกษาความเหมาะสมเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังมติคณะรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติงบประมาณ 30 ล้านบาท ทำการศึกษาโครงก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมทางหลวงระหว่างจังหวัดสตูลและรัฐเปอร์ลิสดังกล่าว โดยให้ทางกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ว่าจ้างให้ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ไทย เอ็มเอ็ม จำกัด และบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ทำการศึกษาสำรวจ
สำหรับกิจกรรมในวันนี้มีการร่วมประชุมหารือความเหมาะสม โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมรับฟังที่ห้องประชุมโรงแรมวังใหม่ อ.เมือง จ.สตูล โดยมีนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานเปิด
สำหรับความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างขุดเจาะอุโมงค์สตูล-เปอร์ลิสนั้น มีการดำเนินการมา 12 เดือน โดยจากการสำรวจเส้นทาง พบว่าทางประเทศมาเลเซียเห็นด้วยการที่ทางจังหวัด สตูลจะทำการขุดเจาะอุโมงค์ เพื่อเป็นการเชื่อมทางเศรษฐกิจ ทางคมนาคม และการเดินทางให้สะดวกขึ้น ทั้งยังช่วยเสริมสร้างศักย์ภาพการเดินทาง 2 ประเทศ ให้ขนสิ่งสินค้าระหว่างกันอย่างสะดวก พร้อมกับเชื่อมโยงวัฒนธรรม ประเพณี 2 ประเทศ แลกเปลี่ยนความรู้แก่กันอีกทางหนึ่งด้วย
ขณะที่ นายสมบูรณ์ คำแหง ประชาชนเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวว่า หากมีการจัดทำโครงการอุโมงค์ขึ้นมาแล้ว ด่านวังประจันซึ่งเป็นพรมแดนเชื่อมต่อระหว่าง จ.สตูล กับประเทศมาเลเซียอยู่แล้วจะมีไว้ทำไม ทั้งนี้ ตนต้องการให้มีการพัฒนาด่านวังประจัน ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล มากกว่า ซึ่งต้องยอบรับว่าการเดินทางระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย ผ่านเส้นทางชายแดนด่านวังประจันนั้น เป็นความจำเป็นระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศ
ทั้งนี้ การพัฒนาเส้นทางเพื่อให้มีการสัญจรที่สะดวก และมีระบบการจัดการผ่านแดนที่มีศักยภาพ เป็นสิ่งที่คนสตูลและคนมาเลเซียเรียกร้องตลอดมา และหากมีการสร้างเส้นทางใหม่หรือจุดผ่านแดนใหม่ หรือจะเพิ่มจุดผ่านแดนอย่างไรก็แล้วแต่ จะต้องมีการศึกษาถึงผลได้ผลเสียในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งจะเป็นการป้องกันความเสียหายที่ไม่อาจเรียกกลับมาได้ และเพื่อมิให้มีการใช้งบประมาณสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นด้วย