ศูนย์ข่าวภูเก็ต -งานประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต สสจ.ภูเก็ตย้ำมาตรการดูแลความปลอดภัยประชาชนนักท่องเที่ยว-ม้าทรง เผยปีที่ผ่านมามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากประทัด และใช้เหล็กแหลมแทงร่างกายกว่า 70 คน
นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงมาตรการการป้องกันอุบัติเหตุจากการเล่นประทัด และการเฝ้าระวังโรคติดต่อจากการใช้เหล็กแหลมทิ่มแทงร่างกายของม้าทรง ในงานประเพณีถือศีลกินผักประจำปี 2554 ว่า การจัดงานประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ตซึ่ง กำหนดจัดประเพณีถือศีลกินผักในระหว่างวันที่ 27 กันยายน ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2554
งานประเพณีดังกล่าวจะมีพิธีกรรมและการแสดงอภินิหารตามความเชื่อซึ่งอาจจะเกิดโรค และ ภัยอุบัติเหตุจากการใช้อาวุธ รวมทั้งอุบัติเหตุจากการเล่นประทัด ควันและเสียงประทัดที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม ได้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนจากศาลเจ้าต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันซึ่งได้รับความร่วมศาลเจ้าต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี
ที่ผ่านมาจากการเก็บตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บจากโรงพยาบาลต่างๆ พบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกรณีต่างๆ จำนวน 75 ราย แบ่งเป็นบาดเจ็บจากการใช้เหล็กแหลมแทงลิ้นจำนวน 3 ราย บาดเจ็บจากการใช้ของมีคมฟันที่หลังจำนวน 3 ราย บาดเจ็บจากประทัดเข้าตาจำนวน 24 ราย และบาดเจ็บจากการโดนประทัดตามร่างกายจำนวน 16 ราย
สำหรับในงานประเพณีถือศีลกินผัก สิ่งหนึ่งที่ใช้กันมากคือเรื่องของประทัด ซึ่งควันและเสียงประทัดอาจจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะการได้ยินซึ่งเสียงเหล่านี้สูงถึง 125 เดซิเบลเอ และในพิธีแห่พระรอบเมืองเสียงประทัดดังถึง 132 เดซิเบลเอ ทำให้เกิดภาวการณ์สูญเสียการได้ยินจากเสียงที่ดังเกินไป ซึ่ง หูคนปกติทั่วไปสามารถรับการได้ยินไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ ในเวลา 15 นาที และไม่เกิน 110 เดซิเบลเอ ในเวลา 30 นาที
นายแพทย์วิวัฒน์กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดงานประเพณีถือศีลกินผักในครั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ศาลเจ้าต่างควบคุมแลม้าทรงที่จะเข้าร่วมพิธี เพื่อไม่ให้ใช้อาวุธที่มีขนาดใหญ่เกินไปในการทิ่มแทงร่างกายเพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ รวมทั้งเรื่องของการใช้อาวุธและเหล็กนำจะต้องไม่ใช้ร่วมกัน หรือหากจำเป็นต้องใช้ก็จะต้องทำความสะอาดให้ถูกวิธีเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเลือด น้ำลาย เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคเอดส์
นอกจากนั้น สิ่งหนึ่งที่จะต้องระมัดระวัง คือ เรื่องของการปรุงอาหาร ซึ่งแต่ละศาลเจ้าจะต้องปรุงอาหารเพื่อเลี้ยงคนจำนวนมาก จำเป็นที่จะต้องดูแลรักษาความสะอาด และจะต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ เท่านั้น รวมไปถึงผู้ประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยเพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วง