xs
xsm
sm
md
lg

รอง ผอ.กอ.รมน.แจงคนร้ายลอบบึ้มรถไฟเหตุตอบโต้คดีจับยาบ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า
ยะลา - รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้ กลุ่มคนร้ายก่อเหตุลอบระเบิดเส้นทางรถไฟ ไม่ได้หวังให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต แค่สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในพื้นที่

วันนี้ (28 ก.ค.) เวลา 13.00 น.พล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยถึงเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดเส้นทางรถไฟบริเวณ หมู่ 6 บ้านสโลว์กาแต๊ะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวานนี้ จนเป็นเหตุให้รางรถไฟได้รับความเสียหาย และรถไฟหยุดวิ่งมาเป็นเวลา 2 วันแล้วนั้น ตนมีความเห็นว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เพียงแต่ต้องการสร้างความวุ่นวายตอบโต้กรณีจับกุมพ่อค้ายาบ้าที่ใช้เส้นทางรถไฟขนยาบ้าลงมาจากกรุงเทพฯ

การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจรถไฟหัวหินจับกุมพ่อค้ายาบ้าที่โดยสารมากับขบวนรถด่วนที่ 37 กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก หรือรถด่วนทักษิณ พร้อมกองกลางกว่า 40,000 เม็ด และถัดมาเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจรถไฟหาดใหญ่ได้ตรวจยึดยาบ้าร่วม 6 หมื่นเม็ดซุกซ่อนอยู่บนรถไฟเช่นกัน

จากนั้นวันที่ 27 ก.ค.ก็เกิดเหตุระเบิดรางรถไฟขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังมีการดำเนินการแก้ไข โดยส่งเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบความปลอดภัย ก่อนเจ้าหน้าที่ของการรถไฟจะใช้รถไฟขนาดเล็ก นำวัสดุมาเปลี่ยน หรือซ่อมรางที่เสียหายต่อไป

พล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กลุ่มคนร้ายหวังให้เหตุการณ์ระเบิดรางรถไฟที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสาเหตุให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการหยุดเดินรถไฟตำหนิการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ว่าไม่สามารถดูแลเฝ้าระวังความปลอดภัยได้

ทั้งนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พยายามทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เรื่องขบวนรถไฟไม่สามารถให้บริการได้ ว่า เนื่องจากยังมีบุคคลหลงผิดที่รู้สึกว่าตนถูกรังแกหรือเอาเปรียบ และไม่ยอมออกมาเข้าร่วมกระบวนการสู้กันด้วยสันติวิธี แต่กลับสร้างความเสียหายแก่สาธารณูปโภคของส่วนรวม

หากบุคคลเหล่านี้สามารถกลับใจมาร่วมมือกับภาครัฐในการสร้างความสงบสุขได้ โครงสร้างของการก่อเหตุร้ายก็จะอ่อนแอลง เพราะการก่อเหตุร้ายในแต่ละครั้งจะต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ผู้สั่งการ ผู้ประสาน และผู้กระทำ หากคนในโครงสร้างดังกล่าวหลุดออกมา 1 คน โครงสร้างก็จะขาดความเชื่อมต่อโดยปริยาย

โดยสถิติการเกิดคดีอาชญากรรมในพื้นที่ 4 อำเภอ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547-มิถุนายน 2554 มีจำนวน 85,768 คดี แยกเป็นคดีความมั่นคงจำนวน 7,997 คดี แยกเป็นรายจังหวัด ได้แก่ จ.ยะลา 2,519 คดี จ.ปัตตานี 2,612 คดี จ.นราธิวาส 2,656 คดี และ จ.สงขลา 210 คดี นอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่มีหมายจับ พ.ร.ก.ในพื้นที่ จ.ยะลา จำนวน 45 ราย จ.ปัตตานี จำนวน 79 ราย และจ.นราธิวาส จำนวน 190 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น