xs
xsm
sm
md
lg

ชายแดนใต้ครูสอนไม่ตรงสาขาวิชาเอก ส่งผลประสิทธิภาพนักเรียนด้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นราธิวาส - ผอ.สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุ ปัจจุบันพื้นที่ จชต.ครูส่วนใหญ่สอนไม่ตรงสาขาวิชาเอก และเด็กยังอ่อนภาษาไทย ซึ่งผลจากการพัฒนาการศึกษาต่อเนื่องจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษาของครูและนักเรียนได้มากขึ้น

วันนี้ (26 เม.ย.) นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรวจเยี่ยมการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ประจำปี 25554 ณ หน่วยสอบ โรงเรียนบ้านสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 ได้เปิดรับจำนวน 9 อัตรา 7 วิชาเอก คือ วิชาภาษาไทย 1 อัตรา วิชาภาษาอังกฤษ 2 อัตรา วิชาคณิตศาสตร์ 1 อัตรา วิชาเอกพลศึกษา 1 อัตรา วิชาเอกดนตรีสากล 1 อัตรา วิชาศิลปศึกษา 1อัตรา และวิชาเอกการศึกษาปฐมวัย 2 อัตรา โดยมีผู้สนใจเข้าสอบจำนวน 978 คน

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่าปัจจุบันการขาดแคลนบุคลากรครูในพื้นที่มีน้อยมาก เพราะจะมีอัตราทดแทนเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่พบในขณะนี้คือครูที่สอนไม่ตรงกับวิชาเอก และเรื่องของภาษาไทยที่เด็กส่วนใหญ่ยังอ่อนภาษาไทย

จากปัญหาดังกล่าวกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ก็ได้ดำเนินการสอบบรรจุบุคคลที่มีความถนัดในสาขาวิชาต่างๆ เข้าสู่ระบบ อีกทั้งยังมุ่งเน้นการสอนภาษาไทยในระดับเข้มข้นกับการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งจากที่ดำเนินการมา 3 ปี พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนาระบบการศึกษามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมียุทธศาสตร์เฉพาะที่เพิ่มขึ้นจากที่ดำเนินการในทุกภูมิภาค คือ ยุทธศาสตร์ที่ 6 ที่เร่งรัดการพัฒนาขั้นพื้นฐาน โดยมีงบประมาณเฉพาะ สำหรับการพัฒนาเด็ก พัฒนาครูผู้สอน เน้นการสอนภาษาไทย พัฒนาระบบให้นักเรียนเรียนดีมีคุณภาพ ตามบริบท และตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยมีคณะทำงานในระดับพื้นที่เข้ามาดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นอย่างชัดเจน จึงมั่นใจได้ว่าระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพ และจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น