xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนชุมพรโวย “กปน.” เอื้อโรงสกัดน้ำมันปาล์ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชยาวุธ  จันทร รอง ผวจ.ชุมพร พร้อมด้วยหน่วยงานเกี่ยวข้องออกพบเจ้าของโรงงานที่รับซื้อผลผลิตปาล์ม และเกษตรกร เพื่อทำความเข้าใจ หลังคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ (กปน.) กำหนดแนวให้โรงงานสกัดนำมันปาล์มรับซื้อผลที่มีคุณภาพเท่านั้น รวมทั้งมีสิทธิปฏิเสธการรับซื้อจากเกษตรกร โดยชาวสวนปาล์มโวยว่ามาตรการเข้มเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้โรงงาน  และทำให้ลานปาล์มที่รับซื้อตามหมู่บ้าน ชุมชน กว่า 100 แห่งปิดกิจการไม่รับซื้อ หวั่นขาดทุน จนเดือนร้อนไปทั่ว
ชุมพร - เกษตรกรชาวสวนปาล์มชุมพรโวย หลัง กปน.กำหนดแนวให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลที่มีคุณภาพเท่านั้น รวมทั้งมีสิทธิปฏิเสธการรับซื้อจากเกษตรกร มาตรการเข้มเอื้อผลประโยชน์โรงงาน ด้านลานปาล์มรับซื้อตามหมู่บ้าน ชุมชนกว่า 100 แห่งปิดกิจการไม่รับซื้อ หวั่นขาดทุน

วันนี้ (19 เม.ย.) นายชยาวุธ จันทร รอง ผวจ.ชุมพร พร้อมด้วย พาณิชย์จังหวัด การค้าภายในจังหวัด ผู้แทนเกษตรจังหวัด และผู้แทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ การรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน ของโรงงานสกัด ได้แก่ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด และ บริษัท มิตรเจริญปาล์มออยล์ จำกัด หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ (กปน.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มี.ค.54 กำหนดให้โรงงานรับซื้อผลปาล์มที่มีคุณภาพเท่านั้นในราคากิโลกรัมละ 6 บาท และมีอัตราน้ำมันจากผลปาล์มขั้นต่ำ 17%

รวมถึงมีสิทธิปฏิเสธการรับซื้อหากเกษตรกรตัดปาล์มที่ไม่มีคุณภาพมาจำหน่ายให้ จนเป็นสาเหตุทำให้ลานปาล์ม หรือลานเท ที่รับซื้อตามหมู่บ้าน และชุมชนต่างๆ ในจังหวัดชุมพร จำนวนกว่า 100 แห่ง ปิดไม่รับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกร เนื่องจากกลัวว่าจะขาดทุน เพราะต้องคัดทลายปาล์มที่ไม่มีคุณภาพออก

อีกทั้งยังไม่มั่นใจในนโยบาย ของ กปน.ว่า จะต้องรับซื้อปาล์มทลายจากเกษตรกรราคาเท่าไหร่ เนื่องจากมีต้นทุนเรื่องค่าขนส่งเป็นปัจจัยหลักร่วมอยู่ด้วย จนทำให้ชาวสวนปาล์มเดือดร้อน ไม่มีที่จะขายผลปาล์ม จำเป็นต้องทิ้งผลปาล์มในสวน ขาดรายได้จำนวนมาก

นอกจากนี้ กปน.ยังได้กำหนดเกณฑ์การรับซื้อผลปาล์มน้ำมันให้มีคุณภาพอีก 5 ข้อ ได้แก่ 1.ผลปาล์มน้ำมันต้องสุกอย่างน้อย 90% 2.ไม่แยกลูกร่วง (ลูกร่วงทั้งหมดต้องรวบรวมนำส่งพร้อมปาล์มทลาย) 3.ก้านทะลายต้องยาวไม่เกิน 4 นิ้ว 4.ไม่มีสัตว์กัดแทะผลปาล์มเกิน 50% และ 5.ต้องส่งโรงงานภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งการรับซื้อปาล์มตามนโยบายดังกล่าว จะดำเนินการไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.54 สำหรับจังหวัดชุมพร มีโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันในพื้นที่ เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 10 แห่ง ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ได้มีชาวสวนปาล์มจำนวนมากไม่เห็นด้วย ถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดการรับซื้อผลปาล์ม ของ กปน. โดยเกษตรกรในพื้นที่ อ.ทุ่งตะโก อ.สวี จ.ชุมพร อ้างว่า มาตรการดังกล่าวไม่ยุติธรรม และเป็นการกดดันเกษตรกร และเอื้อผลประโยชน์ให้กับโรงงานจนเกินไป หากต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์แบบนี้ และมองว่าเกษตรกรไม่สามารถปฏิบัติตามได้ครบทุกข้อ และเตรียมที่จะรวมตัวกันประท้วงเพื่อกดดัน และเรียกร้องให้แก้ไขกฎเกณฑ์การรับซื้อปาล์มของ กปน.ต่อไป

ด้าน นายพินิจ เจริญพานิช ผวจ.ชุมพร หลังจากทราบเรื่องว่าจะมีการรวมตัวประท้วงของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ได้เรียกประชุมหน่วยงานราชการเกี่ยวข้องเป็นการด่วน เบื้องต้น ได้ขอความร่วมมือไปยังโรงงานสกัดให้ขยายเวลาการรับซื้อผลผลิตปาล์มออกไป จนกว่าจะรับซื้อผลปาล์มที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายให้หมดไม่ให้ดหลือข้ามวัน และให้ผู้แทนเกษตรตำบล ร่วมกับผู้แทนเกษตรกร อย่างละ 2 คน ไปอยู่ประจำที่โรงงานสกัดที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อคอยให้คำชี้แจงและหาข้อยุติ หากเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างโรงงานสกัดที่รับซื้อกับเกษตรกร ส่วนมาตรการอื่นๆ ก็จะเร่งประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงงานสกัด ลานเท และเกษตรกร อีกครั้งเพื่อหายุติร่วมกันโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น