นราธิวาส - ทหารร่วมถกแกนนำ ผู้นำศาสนา กำนัน คลี่ปมไฟใต้ หนุนให้ผู้หลงผิดมอบตัว ซึ่งขณะนี้มียอดนับร้อยราย เพื่อความสงบแบบยั่งยืน
วันนี้ (2 เม.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมนราทัศน์ โรงแรมอิมพีเรียล อ.เมือง จ.นราธิวาส พ.อ.สมพล ปานกุล รอง ผอ.กอ.รมน.จ.นราธิวาส ได้ร่วมเข้าสังเกตการณ์การสัมมนาสัญจรของตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส จำนวนกว่า 200 คน ซึ่งประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำศาสนา ที่ พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล ผบ.กรมทหารพรานที่ 45 ซึ่งเป็นตัวแทนของกองทัพบก ที่สานต่อนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และแม่ทัพภาค 4 เพื่อมุ่งหมายให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสงบสุขแบบยั่งยืน ด้วยประการสำคัญ3 ข้อหลัก คือ การสร้างความเข้าใจ การมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็น
โดยได้มีการเรียนเชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์ 3 คน คือ นายเสรี บินยุ กำนันตำบลรือเสาะ นายแวดาโอ๊ะ แวมายิ กำนันตำบลแว้งและนายอายิ ลาเต๊ะ โต๊ะอิหม่าม อ.แว้ง ที่ได้มีการกล่าวถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ปัญหาความไม่สงบ ซึ่งทั้ง 2 ปัญหาใหญ่ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข ที่สำคัญอยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่รับผิดชอบ คือ ต้องมีความซื่อสัตย์รู้จักหน้าที่และขอบเขตของตนเอง ไม่ใช่เห็นแก่ผลประโยชน์เล็กๆน้อยๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ซึ่งในที่ประชุมได้มีตัวแทนภาคประชาชน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ที่ขณะนี้ทางกองทัพมีนโยบายให้ผู้หลงผิดเข้ามามอบตัว แต่ยังขาดความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะความปลอดภัยในชีวิต ที่อาจจะต้องมีการถูกฆ่าตัดตอน และถ้าปัญหานี้มีข้อยุติเชื่อว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีแนวโน้มที่เกิดความสันติสุขได้ไม่ยาก เพราะผู้หลงผิดจำนวนนับ 100 คน จะเข้ามอบตัวกับทางการอย่างแน่นอน
ในส่วนของปัญหายาเสพติดที่ระบาดนั้น ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีการเลือกสรรบุคคลมาทำหน้าที่ในการปราบปราม ควบคู่กับการบำบัด โดยเฉพาะกลุ่มเอเย่นต์ต้องมีการปราบปรามอย่างจริงจัง ไม่ใช่ไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุจับกุมแต่กลุ่มผู้เสพ แต่รับผลประโยชน์จากเอเย่นต์ในทางลับ
อย่างไรก็ตาม พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล ผบ.กรมทหารพรานที่ 45 จะได้นำข้อสรุปในที่ประชุมบันทึกเสนอต่อไปยังกองทัพ โดยเฉพาะความมั่นใจที่ผู้หลงผิดจะเข้ามามอบตัว รวมถึงความเอกภาพของเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยที่ต้องใช้ พรก. ฉุกเฉินในการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด ที่ปัจจุบันบางหน่วยงานไม่กล้าเสี่ยงจะปฏิบัติหน้าที่เต็ม 100 เพราะอาจเกิดความผิดพลาดไม่มีผู้ใดจะให้การช่วยเหลือได้