xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมตรัง 10 อำเภอ ยอดผู้ประสบภัยพุ่ง 50,000 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - สรุปสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดตรัง ล่าสุด มีพื้นที่ได้รับผลกระทบครบทั้ง 10 อำเภอ ใน 68 ตำบล 5 เทศบาล 499 หมู่บ้าน และมีราษฎรประสบภัยแล้ว 28,435 ครัวเรือน หรือ 51,865 คน

วันนี้ (31 มี.ค.) นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า แม้หย่อมความกดอากาศต่ำที่เคลื่อนมาปกคลุมบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ กระบี่ เริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดตรังยังคงมีฝนชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ได้ จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากต่อไปอีก ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามัน หรือทะเลตรัง ก็สูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งอีก 1-2 วัน

โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตรัง ได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด ว่า มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งจังหวัดครบทั้ง 10 อำเภอ ใน 68 ตำบล 5 เทศบาล 499 หมู่บ้าน และมีราษฎรประสบภัยแล้ว 28,435 ครัวเรือน หรือ 51,865 คน สูงสุดคือ อำเภอเมือง 12 ตำบล 1 เทศบาล 119 หมู่บ้าน 16 ชุมชน ราษฎรประสบภัย 10,630 ครัวเรือน รองลงมาคือ อำเภอวังวิเศษ 5 ตำบล 68 หมู่บ้าน ราษฎรประสบภัย 4,910 ครัวเรือน ตามมาด้วย อำเภอสิเกา 4 ตำบล 27 หมู่บ้าน ราษฎรประสบภัย 4,397 ครัวเรือน

อำเภอห้วยยอด 13 ตำบล 2 เทศบาล 91 หมู่บ้าน ราษฎรประสบภัย 3,050 ครัวเรือน, อำเภอนาโยง 6 ตำบล 1 เทศบาล 49 หมู่บ้าน ราษฎรประสบภัย 2,714 ครัวเรือน, อำเภอย่านตาขาว 8 ตำบล 50 หมู่บ้าน ราษฎรประสบภัย 1,348 ครัวเรือน, อำเภอปะเหลียน 7 ตำบล 21 หมู่บ้าน ราษฎรประสบภัย 636 ครัวเรือน, อำเภอรัษฎา 5 ตำบล 1 เทศบาล 42 หมู่บ้าน ราษฎรประสบภัย 353 ครัวเรือน, อำเภอกันตัง 7 ตำบล 16 หมู่บ้าน ราษฎรประสบภัย 244 ครัวเรือน และ อำเภอหาดสำราญ 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน ราษฎรประสบภัย 153 ครัวเรือน

ทั้งนี้ แม้ว่าระดับน้ำในพื้นที่แนวเทือกเขาบรรทัด บริเวณอำเภอนาโยง ย่านตาขาว และปะเหลียน ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไปเพิ่มสูงขึ้นในบริเวณลุ่มริมฝั่งแม่น้ำตรัง ในอำเภอวังวิเศษ เมืองตรัง สิเกา และกันตัง ซึ่งรับน้ำจากแนวเทือกเขาบรรทัด และจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะที่มีพนังกั้นแม่น้ำตรังได้พังทลายลง จำนวน 2 จุด บริเวณพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลบางรัก และหมู่ที่ 2 ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง จึงต้องอพยพราษฎรไปอยู่ในที่ปลอดภัย ส่วนความเสียหาย เช่น ถนน สะพาน ดินสไลด์ บ้านเรือน หรืออื่นๆ อยู่ในระหว่างการสำรวจ



แม้ว่าความกดอากาศต่ำจะอ่อนกำลังลง แต่ในก็ยังตกในหลายพื้นที่ ประชาชนยังต้องเฝ้าระวังน้ำป่าที่อาจไหลเข้าท่วมในช่วงนี้ได้อีก
กำลังโหลดความคิดเห็น