xs
xsm
sm
md
lg

คนพัทลุงโซนทะเลสาบยังระทม! น้ำท่วม 2 เมตร ด้านริมเขาบรรทัดน้ำเริ่มลดแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง - น้ำท่วมระลอกใหม่บ่าทะลักเข้าท่วมเป็นบริเวณกว้างขวางในหลายพื้นที่ของ จ.พัทลุง ในโซนริมเทือกเขาบรรทัดเริ่มลดระดับลงแล้ว ชาวบ้านต่างทยอยกลับเข้าทำความสะอาดบ้านเรือนของตัวเอง ขณะที่โซนพื้นที่ราบลุ่มริมทะเลสาบ น้ำยังคงท่วมสูงราว 2 เมตร เผยหลายหมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติไม่ต่ำกว่า 5 ครั้งนับจากช่วงปลายปีที่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พัทลุง ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวมของพื้นที่ว่า ขณะนี้ฝนได้ทิ้งช่วงทำให้ระดับน้ำที่ท่วมบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตร สวนยางพารา และสวนปาล์มในพื้นที่ริมป่าเทือกเขาบรรทัด อ.กงหรา อ.ศรีบรรพต อ.ศรีนครินทร์ และ อ.ตะโหมด ลดระดับลง ชาวบ้านที่อพยพไปอาศัยบ้านญาติหรือศาลาหมู่บ้านหลับนอนได้เริ่มกลับเข้าปัดกวาดที่อยู่อาศัยได้แล้ว

ขณะเดียวกัน น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ ต.พญาขัน ต.ปรางหมู่ ต.ชัยบุรี ต.นาโหนด และ ต.ลำปำ ในพื้นที่ อ.เมืองพัทลุง, ต.ปันแต ต.แหลมโตนด ต.มะกอกเหนือ ต.พนางตุง ต.ทะเลน้อย ในพื้นที่ อ.ควนขนุน, ต.หารโพธิ ต.เขาชัยสน ต.โคกม่วง ในพื้นที่ อ.เขาชัยสน, ต.ท่ามะเดื่อ ต.นาปะขอ ในพื้นที่ อ.บางแก้ว และ ต.บ้านพร้าว ในพื้นที่ อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ระดับน้ำยังสูงเกือบ 2 เมตร หลายหมู่บ้านยังคงถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ต้องใช้เรือในการเข้าออกหมู่บ้านเพื่อหาชื้ออาหารไว้รับประทาน และยังร้องขอน้ำดื่มที่สะอาดในการบริโภค

ทั้งนี้ ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่ม น้ำระบายไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้อย่างช้าๆ และสัตว์เลี้ยงอย่างโคเนื้อและโคนม เริ่มขาดหญ้าสดและอาหารแห้งแล้ว

นางประคอง อิสโม อายุ 55 ปี ชาวบ้านหมู่ 10 ต.พญาขัน อ.เมืองพัทลุง ต้องหุงข้าว ขอดเกร็ดปลาที่สามีเป็นผู้หามาให้จากน้ำที่ท่วมขังเพื่อประกอบเป็นอาหารยังชีพ ท่ามกลางสภาพน้ำที่ท่วมบ้าน โดยเฉพาะบนถนนหน้าบ้านมีน้ำท่วมสูงกว่า 70 ซม. เช่นเดียวกับสมาชิกในครอบครัวของนายเขื่อม ราษฎร์บวร อายุ 72 ปี ที่ต้องนั่งกินข้าวบนแคร่หน้าบ้านที่มีสภาพน้ำขังล้อมรอบ ซึ่งชาวบ้านต้องใช้ชีวิตประจำวันอย่างยากลำบาก

นายเขื่อม ชาวบ้านผู้เดือดร้อนระบุว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านที่ประสบชะตากรรมเดียวกันในหมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 10 ต.พญาขัน อ.เมืองพัทลุง ร่วม 300 ครอบครัว ในพื้นที่มีสภาพน้ำท่วมขังมานาน 4 วันแล้ว และน้ำท่วมรอบนี้เป็นรอบที่ 5 ตั้งแต่ปลายปี 2553 จนถึงต้นปี 2554 ชาวบ้านในพื้นที่ลำบากยากจะเดินเข้าออกหมู่บ้านก็ไม่สะดวก เพราะถนนถูกน้ำท่วมยาวเป็นระยะทางร่วม 4 กม. รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ต้องเดินเท้าและใช้เรือเท่านั้น

“พื้นที่นี้มีสภาพน้ำที่ท่วมทุกปี จึงอยากวิงวอนทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หามาตรการแก้ปัญหาระยะยาวให้ด้วย” นายเขื่อมกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น