ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักแผ่นดินไหววิทยา มอ.หาดใหญ่ เผย สึนามิเตือนภัยล่วงหน้าได้ก่อนเกิด ห่วงการซักซ้อมเผชิญเหตุของไทยยังไม่จริงจัง
วันนี้ (15 มี.ค.) ที่ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้จัดการเสวนา “บทเรียนจากสึนามิในประเทศญี่ปุ่นกับการเตรียมความพร้อมรับมือของประเทศไทย” โดย ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อสร้างความเข้าเรื่องภัยพิบัติการเกิดแผ่นดินไหวและการเกิดคลื่นสึนามิ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติของประเทศไทย
ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยพิบัติสึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ทำให้หลายคนมีความเป็นห่วงและกังวลถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้น แล้วประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหนนั้นในการรับสถานการณ์ดังกล่าวนั้น ต้องมีความเข้าใจก่อนว่า การเกิดสึนามิจะเกิดหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งจะใช้เวลานานเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมงกว่าที่คลื่นสึนามิจะเดินทางถึงฝั่งขึ้นอยู่กับระยะทางและความลึกของทะเล โดยแผ่นดินไหวที่จะทำให้เกิดคลื่นสึนามิมีปัจจัย 3 อย่างรวมกัน คือ 1.ต้องเป็นแผ่นดินไหวในทะเลหรือมหาสมุทร 2.มีขนาดความรุนแรงมากกว่า 7 ริกเตอร์ 3.มีกลไกของมุมการเคลื่อนตัวใกล้แนวดิ่งหรือใกล้เคียง 90 องศา
สำหรับความพร้อมของประเทศไทยในการแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติสึนามิ เรามีสถานีเครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวที่เป็นเครือข่ายแห่งชาติ ภายใต้การดูแลโดยกรมอุตุนิยมวิทยาประมาณ 40 สถานี กระจายไปตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนทุ่นวัดคลื่นสึนามิทางทะเลนั้น เดิมเราเคยได้รับทุ่นวัดคลื่นสึนามิจากทางสหประชาติมา 1 ทุ่นหลังจากที่เกิดภัยพิบัติในทะเลฝั่งอันดามัน แต่ปัจจุปันไม่สามารถใช้งานได้นานแล้ว แต่ยังมีทุ่นวัดคลื่นสึนามิอีก 2 จุดใช้งานได้อยู่
ส่วนฝั่งทะเลอ่าวไทยนั้น เราอาศัยข้อมูลจากทุ่นวัดคลื่นสึนามิของประเทศอื่น ที่อยู่ในทะเลของประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน หากประเทศเหล่านี้สามารถตรวจพบ จะห่างจากประเทศไทยประมาณ 2,000 กิโลเมตร เราก็มีเวลาในการเตรียมพร้อมประมาณ 6 ชั่วโมง
ดร.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดหากได้รับการแจ้งเตือนพิบัติ คือเรื่องความความพร้อมของประชาชน การจัดให้มีการซักซ้อมการอพยพของประชาชนหากเกิดภัยพิบัติที่ผ่านมา แม้จะมีการซักซ้อม ประชาชนถึงเส้นทางการอพยพเมื่อเจอภัยพิบัตินั้น แต่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้น ที่ได้เข้าร่วมการซักซ้อมเผชิญสถานการณ์จริงยังมีน้อย ผู้คนที่มีโอกาสจะเจอกับสถานกาณ์จริงยังละเลยการซักซ้อมและไม่มีการซักซ้อมอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ การซักซ้อมที่ผ่านมาคนที่เข้าร่วมเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ดูเหมือนแผนการเผชิญเหตุทำได้จริงใช้งานได้ แต่หากเกิดเหตุการณ์จริงจำนวนคนทั้งหมดครบ 100 เปอร์เซ็นต์ การซักซ้อมตามแผนก็จะไม่เป็นผล เรื่องนี้ต้องมีการทบทวนกันใหม่