ตรัง - สารวัตรอำนวยการ สภ.เมืองตรัง ซึ่งรถทัวร์พลิกคว่ำจนแขนขาด หลังกลับมาจากไปคุมม็อบเสื้อแดง ที่กรุงเทพฯ เมื่อกว่า 8 เดือนที่แล้วยังคงมีชีวิตที่ยากลำบากเมื่อต้องกลายเป็นคนพิการ และร่างกายหลายแห่งต้องดามเหล็ก เผยความฝันอยากได้แขนเทียมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ใช้การได้ แต่พบราคายังแพงนำเงินเดือนสานฝันไม่ไหว
ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรัง ได้เดินทางไปติดตามอาการบาดเจ็บล่าสุดของ พ.ต.ต.ธวัช ข่ายม่าน สารวัตรอำนวยการ (สว.อก.) สภ.เมืองตรัง ซึ่งประสบอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารพลิกคว่ำ บนถนนสายเอเชีย 41 อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะกำลังเดินทางกลับจังหวัดตรัง พร้อมกับผู้บังคับบัญชาและลูกน้อง หลังเสร็จสิ้นภารกิจการควบคุมดูแลการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ นับตั้งเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา หรือเป็นระยะเวลากว่า 8 เดือนแล้ว หลังได้รับแจ้งจากเพื่อนฝูงผู้ใกล้ชิดที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยกันว่าชีวิตของ พ.ต.ต.ธวัช ยังคงยากลำบากอยู่อย่างมาก
ทั้งนี้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งดังกล่าว ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งระดับชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนได้รับบาดเจ็บเกือบ 50 คน อันเป็นผลมาจากการขับขี่โดยประมาทของคนขับรถทัวร์ แต่ดูเหมือนว่า พ.ต.ต.ธวัช จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด เนื่องจากแขนขวาขาด นับตั้งแต่กลางท่อนแขนลงไปรวมความยาวประมาณ 1 ฟุต ทำให้ไม่มีมือที่จะใช้หยิบจับต้องอะไรได้เหมือนกับคนอื่น แถมยังมีอาการเจ็บแบบเหน็บชา โดยเฉพาะในส่วนที่เหลือตั้งแต่ข้อศอกขวาลงไป ต้องกินยาคลายเส้นวันละ 1 เม็ด มาโดยตลอดอีกทั้งทุกๆ ชั่วโมง ยังต้องใช้มือซ้ายที่เหลืออีก 1 ข้าง พยายามนวดเพื่อให้คลายอาการเจ็บแบบเหน็บชา
นอกจากนั้น ยังได้รับบาดเจ็บในจุดต่างๆ อีกทั่วทั้งร่างกาย เช่น แขนซ้ายหัก 3 ท่อน ทำให้หมอต้องใส่เหล็กดาม 2 ชุด 4 เส้น เพื่อให้สามารถขยับได้ ซึ่งล่าสุดได้มีการผ่าตัดเอาเหล็กที่บริเวณข้อศอกออกมาแล้ว 1 ชุด ส่วนที่เหลืออีก 1 ชุด บริเวณแขนท่อนบน หมอให้ใส่อย่างนั้นไว้ตลอดไป เพราะหากถอดออกก็จะทำให้แขนซ้ายมีโอกาสเปราะหรือหักได้ง่าย ซึ่งขณะนี้แม้จะขยับใช้งานได้ตามปกติ แต่จะสามารถยกของที่หนักได้ไม่เกิน 2 กิโลกรัมเท่านั้น ที่สำคัญก็คือ เข้าต้องพยายามฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อนำแขนซ้ายมาใช้ทดแทนแขนขวาที่ขาดหายไปให้มากที่สุด ทั้งการเขียนหนังสือ พิมพ์คอมพิวเตอร์ หรือเซ็นต์เอกสาร
พร้อมกันนั้น ผลจากอุบัติเหตุยังทำให้กระดูกสันหลังหักที่ข้อ L ซึ่งอยู่ช่วงประมาณกลางหลัง ล่าสุดหมอได้ผ่าตัดใส่เหล็กดามเอาไว้ทั้งปีกซ้ายขวา โดยล่าสุดเมื่อที่ 28 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา หมอได้ผ่าตัดเอาเหล็กดามปีกซ้ายออกมาแล้ว ส่วนปีกขวายังต้องรออีก 1 ปีเศษ ถึงจะผ่าตัดเอาออกมา ซึ่งปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นกับ พ.ต.ต.ธวัช ก็คือ อาการปวดเอว กรณีที่นั่งอยู่กับที่นานๆ แม้การเดินขณะนี้จะทำได้เกือบปกติ แต่สำหรับการวิ่งนั้นต้องงดไปเลยเด็ดขาด ขณะเดียวกัน ยังมีซี่โครงหักซ้ายหัก 1 ซี่ด้วย ซึ่งหมอได้เจาะเอาเลือดและน้ำออกมาทั้งหมดแล้วจึงหายได้เป็นปกติ และไม่มีอาการปวด
มิเพียงเท่านั้น ที่บริเวณตาขวาก็ยังกระทบกระเทือนอย่างหนักจากการกระแทกอย่างรุนแรงภายในรถทัวร์ขณะที่กำลังพลิกคว่ำหลายตลบ ถึงขั้นมองไม่เห็นเลยในช่วงแรกๆ ที่ทำการรักษาตัว แต่ยังโชคที่ท้ายสุดหมอสามารถรักษาฟื้นกลับคืนมา 100 % ทำให้ตามองเห็นได้เป็นปกติ ด้วยแว่นสายตาอันเดิม
สิ่งที่ทำให้อาการบาดเจ็บของ พ.ต.ต.ธวัช ดีขึ้นในหลายส่วน นับตั้งแต่เริ่มรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลตำรวจ มาจนถึงโรงพยาบาลตรัง ล่าสุด ล้วนเกิดมาจากความแรงใจของตนเองและคนรอบข้าง ที่ไม่ยอมทำให้ตนเองมีสภาพเป็นคนพิการแบบไร้ประสิทธิภาพ โดยยึดถือคติที่ว่า ต้องสู้จนถึงที่สุดตราบใดที่ยังมีลมหายใจ
ทั้งนี้ พ.ต.ต.ธวัช ได้รับความเมตตาจากผู้บังคับบัญชาให้ยังคงดำรงตำแหน่ง สว.อก.ภ.จว.ตรัง ต่อไป เหมือนกับเมื่อครั้งที่ยังไม่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เนื่องจากมีเส้นทางชีวิตรับราชการที่น่ายกย่อง ไต่เต้าตั้งแต่อยู่ในระดับชั้นประทวน ตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานสอบสวน จนกระทั่งได้ก้าวขึ้นมาถึงชั้นสัญญาบัตรด้วยวัยเพียง 42 ปี และแม้สิ่งที่ไม่คาดฝันจะทำให้ความหวังต้องเปลี่ยนไป ม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัวหรือการทำงาน แต่เขาก็พยายามที่ช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่รู้สึกว่าต้องเป็นภาระของผู้ใด โดยเฉพาะการขับรถด้วยแขนซ้ายที่เหลือเพียงข้างเดียวเพื่อไปทำงาน ไปธุระ หรือรับส่งลูกๆ ไปโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ พ.ต.ต.ธวัช มีความต้องการมากที่สุด เพื่อที่จะช่วยให้การดำรงชีวิตดีกว่าเดิม ก็คือ แขนเทียมอิเล็คทรอนิคส์ เพียงแต่อุปกรณ์ชิ้นนี้มีราคาสูงมาก โดยเฉพาะในเมืองไทย ขั้นต่ำอยู่ที่ชุดละ 1.2 ล้านบาท ซึ่งลำพังแค่เงินเดือนตัวเองรวมกับเงินเดือนภรรยา คือ นางเกษรา ข่ายม่าน ที่เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนตรังรังสฤษดิ์ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ก็แค่พอมีพอกินและเหลือให้เก็บหอมรอมริบแค่เล็กน้อย เพราะส่วนใหญ่ต้องนำไปเลี้ยงดูลูกสาว 2 คน โดยคนโต วัย 15 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.4 ที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยตรัง ส่วนคนเล็ก วัย 7 ปี เรียนอยู่ชั้น ป.1 ที่โรงเรียนบูรณะรำลึกตรัง
พ.ต.ต.ธวัช บอกว่า แม้ขณะนี้เขาจะได้รับแขนเทียมมาใช้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินจากมูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยมูลค่า 77,790 บาท แต่เป็นแค่ประเภทสวยงาม ที่แทบจะใช้การอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้น หากได้แขนเทียมอิเล็คทรอนิคส์เขาหวังว่าอะไรๆ ก็คงจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการค้นคว้าหาข้อมูลล่าสุดพบว่า ที่ประเทศไต้หวันสามารถผลิตอุปกรณ์ชุดนี้ได้ในราคา 6-7 แสนบาท ซึ่งแม้จะถูกลงมาก แต่เขาก็ยังต้องคิดอย่างรอบคอบ เพราะหากต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำไปซื้อก็เกรงว่าจะกระทบต่อความเป็นอยู่ในครอบครัว จึงคงต้องเก็บสิ่งที่ต้องการนี้เอาไว้อีกสักระยะหนึ่งก่อน จนกว่าถึงวันที่พร้อม
ทั้งนี้ เมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุใหม่ๆ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้นได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.เอก อังสนานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางไปเยี่ยมดูอาการให้กำลังใจและปลอบขวัญ พ.ต.ต.ธวัช ที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ขณะเดียวกันสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้แถลงแนวทางการช่วยเหลือ พ.ต.ต.ธวัช ในขณะนั้น ด้วยการมอบเงินสวัสดิการกองทุนข้าราชการตำรวจให้ 100,000 บาท กรณีแขนขาด และให้เพิ่มอีก 50,000 บาท สำหรับอาการบาดเจ็บสาหัสจากการปฏิบัติหน้าที่ รวมเป็นเงิน 150,000 บาท รวมทั้งยังได้รับการปูนบำเหน็จเงินเดือน 3 ขั้นด้วย