ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนวัดแม่เปียะ ร้องผู้สื่อข่าวขอให้มีการย้าย ผอ.โรงเรียนวัดแม่เปียะออกจากพื้นที่ เนื่องจากมีการเรียกเก็บเงินเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนถี่ผิดปกติ สวนทางกับงบรัฐบาลที่อุดหนุนมาโดยตลอด โดยยก 2 ประเด็นใหญ่เรื่องโครงการอาหารกลางวันและหาเงินสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น ซึ่งภายใน 5 ปีมีเงินหมุนเข้าโรงเรียนกว่า 5 ล้านบาท
นายธณพล แซ่โก้ ตัวแทนผู้ปกครองโรงเรียนวัดแม่เปียะ ม.2 ต.คลองหรั่ง อ.นาหม่อม จ.สงขลา เข้าร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าว “ASTVผู้จัดการหาดใหญ่” ถึงพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใสด้านการเงินของ นายธัชนันท์ จันทโกศล ผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่บริหารโรงเรียนนั้น ผู้ปกครองได้รวมตัวกันทำหนังสือให้เขตการศึกษาทำการตรวจสอบ แต่ผลปรากฏว่ายังไม่สามารถไขข้อข้องใจของกลุ่มผู้ปกครองได้ ส่วนการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นั้นยังไม่แล้วเสร็จ
โดยประเด็นสำคัญในครั้งนี้สืบเนื่องพฤติกรรมเก็บเงินเพิ่มอย่างฟุ่มเฟือยทั้งที่รัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น โครงการอาหารกลางวันนักเรียนที่ อบต.ได้สนับสนุนงบประมาณนักเรียนหัวละ 13 บาท หรือปีการศึกษาละ 500,000 บาท แต่โรงเรียนอ้างว่าไม่เพียงพอจึงจัดเก็บเพิ่มในอัตราคนละ 5 บาทในทุกช่วงชั้นโดยไม่มีใบเสร็จ (ลดลงตามคำทักท้วงของผู้ปกครองที่ช่วงแรกที่เก็บคนละ 10 บาท) ซึ่งเป็นการบังคับจ่ายเนื่องจากไม่อนุญาตให้นำข้าวมารับประทานในโรงเรียน แต่อาหารที่ได้นั้นด้อยคุณภาพ โดยเฉพาะเมื่อมีแกงเหลือก็จะนำมาอุ่นให้เด็กรับประทานในวันต่อไป
เช่นเดียวกับการจัดกิจกรรมทัศนศึกษา ซึ่งแต่ละปีโรงเรียนจะกันงบประมาณส่วนนี้ไว้โดยเฉพาะ แต่จะมีการเก็บเงินเพิ่มในทุกๆ ครั้ง ไม่เว้นแต่การพานักเรียนมาชมงานเกษตรแฟร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เก็บค่ารถอีกคนละ 30 บาท ขณะที่สอบถามนักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆ พบว่าโรงเรียนออกให้ฟรี
ล่าสุดประมาณวันที่ 27 ธ.ค.2553-6 ม.ค.2554 โรงเรียนนำนักเรียนไปทัศนศึกษาที่ จ.เชียงใหม่ โดยมีงบประมาณ 88,000 บาท แต่มีการเก็บเงินนักเรียนเพิ่มคนละ 1,800 บาท และบังคับให้มีเงินติดกระเป๋าอย่างน้อยอีกคนละ 2,000 บาท เพื่อเป็นค่าอาหารซึ่งต้องซื้อเองทุกมื้อ แต่มีการเช่ารถบัสพัดลม 1 คันเพื่อบรรทุกนักเรียนจำนวน 62 คน ซึ่งค่อนข้างแออัดจนต้องนั่งเบียดแถวละ 3 คน
“เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่เราไม่รู้ว่างบกว่า 80,000 บาทนั้นเป็นค่าใช้จ่ายส่วนไหนให้กับนักเรียน และกิจกรรมครั้งนั้นนักเรียนกลับมาเหนื่อยมากเพราะเดินทางไกลหลายวันแล้ว ยังต้องนั่งเบียดกันอีก ซึ่งหากไม่ไปร่วมกิจกรรมก็จะมีผลต่อการสอบอีกด้วย จริงๆ แล้ว ผอ.โรงเรียนต้องบริหารงบประมาณที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เรียกเก็บผู้ปกครองเพียงอย่างเดียว แม้แต่ค่าแอร์ 150/เดือน ค่าปูกระเบื้อง ผู้ปกครองก็ต้องจ่ายให้กับนักเรียน ในขณะที่ตัวเองนั่งทำงานอยู่ในห้องแอร์ตลอดทั้งวัน” นายธนพล กล่าวต่อและว่า
และเมื่อปี 2551 ผอ.ได้มีการประชุมผู้ปกครองและแจ้งว่าจะมีการทุบอาคารหลังเก่าเพื่อสร้างอาคารเรียน 3 ชั้นหลังใหม่ ซึ่งมีเงินอยู่ในบัญชีแล้ว 3 ล้านบาท แต่ ผอ.อยากได้ 4 ชั้น เพื่อขยายให้ชั้นล่างเป็นหอประชุมได้ด้วย จึงต้องการเงินเพิ่มอีก 1.5 ล้านบาท โดยภายหลังกลุ่มผู้ปกครองได้ปรึกษาแล้วตกลงที่จะทอดผ้าป่า จนกระทั่งได้เงินมาประมาณ 1.1 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โรงเรียนจึงจึงจัดทำจาตุคามเพิ่มอีก 500,000 บาท ซึ่งเป็นการให้นักเรียนรับไปขาย และบังคับผู้ปกครองซื้ออีกคนละเกือบ 3,000 บาท แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีอาคารเรียนหลังใหม่ แม้ว่ากลุ่มผู้ปกครองจะทวงถามด้วยหนังสือถึงความคืบหน้าไปแล้วก็ตาม โดยอ้างว่าทางกรุงเทพฯ ยังไม่อนุมัติแบบใหม่ สร้างความกังขาถึงเงินว่าอยู่ที่ไหน หรือมีการฉกฉวยผลประโยชน์จากเงินกองนี้หรือไม่อย่างไร
ด้านนางวรารัตน์ ทองคำ อดีตผู้ปกครองของนักเรียนคนหนึ่งของโรงเรียนดังกล่าว กล่าวในทำนองเดียวกันว่า พฤติกรรมของ ผอ.นั้นไม่เหมาะสมต่อตำแหน่ง โดยครั้งหนึ่งเคยประสบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เนื่องจากย้ายลูกจากโรงเรียนแสงทองวิทยาเพื่อมาเรียนใกล้บ้าน เพื่อมีโอกาสดูแลพ่อบุญธรรมที่ป่วยอย่างใกล้ชิด ซึ่งครูจากโรงเรียนเก่าได้ส่งเอกสารผ่านระบบออนไลน์ แต่ ผอ.คนดังกล่าวซึ่งไม่ได้เช็คระบบออนไลน์ได้ชี้หน้าไล่นักเรียนให้กลับไปอยู่ที่โรงเรียนเดิมด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ สร้างความอับอายและเสียใจต่อเด็กและไม่กล้าไปโรงเรียน จึงต้องมีการพูดคุยระหว่างผู้ปกครองกัล ผอ.และรับเด็กเข้าเรียนได้ในที่สุด แต่ก็ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกทำให้ทนเรียนได้เพียง 1 ปี จึงต้องย้ายออก
เช่นเดียวกับเสียงสะท้อนของผู้ปกครองคนอื่นๆ ไม่เห็นด้วยกับอีกหลายๆ พฤติกรรม และเห็นด้วยว่าแนวทางการบริหารและทัศนคติของ ผอ.ไม่ ดังเช่นอีกกรณีหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น คือทางการมาเลเซียได้ทำหนังสือเชิญทีมฟุตบอลเยาวชนสโมสรคลองหรั่ง F.C. เป็นตัวแทนเยาวชนไทยร่วมกีฬาที่รัฐเคดาห์ ซึ่งเยาวชนส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนระดับชั้น ป.5-6 ของโรงเรียนวัดแม่เปียะนั่นเอง และได้มีการทำหนังสือแจ้งให้โรงเรียนทราบก่อนการเดินทาง ตลอดจนมีผู้ปกครองเดินทางไปดูแลนักเรียนในประเทศมาเลเซียตลอดการแข่งขัน
และเมื่อเดินทางกลับพบว่านักเรียนที่ร่วมแข่งกีฬาถูกครูลงโทษด้วยการตี และใช้ถ้อยคำที่รุนแรงว่าไปขายชาติ เพราะแพ้การแข่งขัน ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนอื่นที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ กลับให้กำลังใจเด็กในฐานะเป็นตัวแทนเยาวชนไทยโดยการมอบเกียรติบัตรให้เป็นที่ระลึก
ตัวแทนผู้ปกครองกล่าวต่ออีกว่า จากการที่ปัญหาต่างๆ ค้างคาใจและสะสมมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ตัวแทนผู้ปกครองเสนอแนวทางออกโดยเรียกร้องให้ 1.มีการสั่งย้าย ผอ.โรงเรียน และกลุ่มผลประโยชน์ซึ่งเป็นครูภายในโรงเรียนดังกล่าวอีก 4 คน 2.เรียกคืนเงินทอดผ้าป่าจำนวน 1.1 ล้าน เพื่อให้มีการจัดสรรใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง 3.ตรวจสอบเงินค่าอาหารกลางวันที่มีการเรียกเก็บเดือนละ 50,000 บาท ตลอดเวลา 5 ปี รวมเป็นเงินประมาณ 4.8 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังจากนี้จะมีการเตรียมกดดันให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวนำไปสู่การปฎิบัติอย่างแท้จริง และอยากได้ผู้บริหารคนใหม่ที่เข้าถึงชุมชนได้มาบริหารและพัฒนาด้านการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะ โรงเรียนดังกล่าวปัจจุบันมีครู 27 คน นักเรียนประมาณ 500 คน
นอกจากรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณแล้ว โรงเรียนยังได้รับความเมตตาจากเจ้าอาวาสวัดแม่เปียะทั้งด้านที่ดินและเงินสนับสนุน โดยมีทั้งสวนยางที่สามารถสร้างรายได้ และเงินค่าฌาปนกิจที่เจ้าอาวาสแจ้งให้เจ้าภาพแต่ละรายบริจาคตามอัธยาศัยเพื่อให้กับโรงเรียนอีกด้วย